in on August 26, 2016

ไบโอฟิลเลีย สันดานไฝ่หาชีวภาพ

read |

Views

หลายอาชีพที่เราคุ้นเคยกำลังหายไปในโลกยุคใหม่หมุนเร็วติ้ว อย่าว่าแต่คนอายุ 50 ที่ตกงานเพราะโลกไม่ต้องการความถนัดเขาแล้ว รุ่นน้องอายุเพียง 30 ต้นๆ ก็เริ่มผวากลัวตกยุค ทั้งๆ ที่เขาโตมากับไอทีและใช้ได้คล่องแคล่ว

แต่อาชีพที่กำลังสูญพันธ์เร็วที่สุดและผู้เขียนเสียดายมากที่สุด ได้แก่ อาชีพนักอนุกรมวิทาน คือนักจำแนกพันธ์สิ่งมีชีวิตต่างๆ

ความสามารถในการจำแนกสารพัดสายพันธ์ชีวิต เคยเป็นความรู้สำคัญของมนุษย์ที่ต้องฝึกฝนเพื่อความอยู่รอดในยุคสมัยที่เราเก็บหาอาหารและพึ่งหยูกยาจากธรรมชาติ แม้ในสังคมเกษตรสมัยก่อนเราก็ยังอาศัยทักษะเหล่านี้อยู่ คนที่เก่งทางนี้เป็นพิเศษก็มักได้รับการยกย่อง เป็นพ่อหมอแม่หมอ บางทีก็ว่าเป็นแม่มด

DSC02450

งานด้านนี้ถูกพัฒนาเป็นอาชีพจริงจังในยุคอาณานิคมสำรวจครอบครองทรัพยากร มีการอุดหนุนทุนทรัพย์สร้างสถาบันวิจัยและพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ออกสำรวจ บุกป่าฝ่าดง เก็บตัวอย่าง จำแนกสายพันธุ์ชีวิตกลุ่มต่างๆ เป็นระบบวิทยาศาสตร์ ขยายความสนใจข้ามพรมแดนของกินของใช้ สร้างองค์ความรู้ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสารบบตำรา อังกฤษยิ่งโดดเด่นมาก นอกจากอาณานิคมพี่แกจะเยอะแยะกว้างไกลจนพระอาทิตย์ไม่เคยตกหายในดินแดนบริแตนแล้ว อังกฤษยังมีวัฒนธรรมนิยมธรรมชาติเป็นทุนเดิม จุดประกายมาจากการทำลายแหล่งธรรมชาติและพื้นที่ชนบทในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

แต่ปัจจุบันบุคลากรด้านนี้เริ่มขาดหาย คนรุ่นก่อนตายไป ก็ไม่มีรุ่นใหม่ความสามารถเทียบเท่ามาทดแทน คนเรียนเฉพาะทางด้านนี้ก็หายไป คอร์สเรียนก็หาย งานประจำด้านนี้แทบไม่มีเปิดรับ แม้จะมีคนเรียนทางนิเวศวิทยาอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการจำแนกสายพันธุ์ อย่างผู้เขียนเป็นต้น ทั้งๆ ที่เรายังรู้จักนานาชีวิตในระบบนิเวศเขตร้อนเพียงน้อยนิด

และแม้แต่นักนิเวศวิทยาเอง ก็ใช่จะหางานทำได้ง่าย ถ้าไม่ได้สังกัดสถาบันการศึกษา หรือองค์กรอนุรักษ์ทุนใหญ่ไม่กี่แห่ง

มันเป็นปรากฎการณ์ที่สะท้อนความต้องการของสังคมปัจจุบัน วิถีชีวิตคนยุคใหม่ไม่ได้พึ่งพาองค์ความรู้ธรรมชาติโดยตรงในชีวิตประจำวัน อยากกินเห็ดก็ไปซื้อที่ซูเปอร์ ไม่ต้องหัดจำแนกเห็ดมีพิษเห็ดกินได้ เรารู้จักโลโก้แบรนด์สินค้าต่างๆ ดีกว่าพืชและสัตว์รอบตัว แม้แต่นกกระจอกบ้านธรรมดา เมื่อเอารูปให้ดู คนกรุงจำนวนไม่น้อยยังไม่รู้ว่าคือนกอะไร

มันกระจอก ไม่สำคัญ เราไม่ต้องหัดฟังเสียงมัน เพื่อรู้ว่ามีภัยเข้ามาใกล้ตัว

แต่ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้จักธรรมชาติ ไม่ใส่ใจมันกันแล้ว เรายังมีสัญชาตญานอะไรบางอย่างที่โหยหามัน โหยหาความงามและพลังชีวิตสายพันธ์อื่นรอบตัว นักนิเวศวิทยาชื่อดัง Edward Wilson เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า biophilia หรือ “ความใฝ่หาชีวภาพ” เขาเชื่อว่าจิตของเรายังมีปฏิพัทธสัมพันธ์รักธรรมชาติ รักรูปลักษณ์และกระบวนการต่างๆ ของชีวิต ผ่านประสบการณ์วิวัฒนาการของมนุษย์ เราจึงรู้สึกเบิกบานเมื่อได้เห็นดอกไม้แย้มกลีบ รู้สึกชื่นใจเมื่อใบไม้ผลิต้นข้าวงอก บางคนตีความว่าเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสัญญานของการผลิตอาหาร เราจึงตอบสนองเป็นบวกต่อมัน จากการเก็บสถิติของหลายสถาบัน พบว่าผู้ป่วยฟื้นตัวดีกว่าในห้องที่มีหน้าต่างวิวต้นไม้เขียวๆ คนไข้โรคจิตก็บำบัดรักษาตัวได้ดีกว่าเมื่อได้อยู่ในสวนกับต้นไม้ใหญ่

แต่เราก็ชอบธรรมชาติต่างๆ ไม่เท่ากัน จากการทดสอบคลื่นสมองเมื่อได้ดูภาพต่างๆ คนจะเครียดกับภาพเมืองคอนกรีต และผ่อนคลายกับป่ามากกว่า แต่ป่าที่คนรู้สึกยินดีที่สุดไม่ใช่ป่าดงดิบลึกลับ จะเป็นป่าโปร่งๆ ผสมทุ่ง ซึ่งก็เป็นลักษณะพื้นที่ที่บรรพบุรุษเราวิวัฒนาการเป็นลิงเดินสองขาขึ้นมา เป็นที่ที่สายตาแบบมนุษย์ คือตาสองดวงอยู่ข้างหน้าโฟกัสระยะได้ สามารถมองเห็นอะไรๆ ได้ดี เห็นภัยได้ล่วงหน้าก่อนมันจะประชิดตัว

สัญชาตญานระวังภัยของเรายังทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ชอบงูและแมลงสัตว์กัดต่อยอย่างแมงมุมแมงป่องโดยอัตโนมัติ เลยพาลไม่ชอบสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ อันนี้เป็น biophobia คือความกลัวธรรมชาติ แต่เราจะมีเมตตาชื่นชอบลูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชอบตาโตๆ ขนปุยๆ หัวกลมๆ หรือหน้ายิ้มของโลมา เป็นความรู้สึกที่ค่อนข้างจะเป็นสากล คือข้ามวัฒนธรรม

หลักฐานเหล่านี้มาจากการทดสอบและสำรวจทางจิตวิทยา แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการค้นพบยีนพันธุกรรมตัวที่ทำหน้าที่เหล่านี้โดยตรง มันคงเป็นเพียงความทรงจำที่ฝังอยู่และถ่ายทอดกันมา ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติเราใช้วิถีชีวิตพึ่งพิงธรรมชาติมายาวนานกว่าวิถีชีวิตโมเดิร์น เราเพิ่งมีวัฒนธรรมตัดขาดจากธรรมชาติมากันไม่กี่รุ่น บางวัฒนธรรมก็เป็นร้อยปี บางวัฒนธรรมก็แค่ไม่กี่สิบปี เทียบไม่ได้กับเวลานับล้านปีที่เราอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ (แม้จะมีการทำลายหรือแปรสภาพถิ่นธรรมชาติกันมายาวนานก็ตาม)

สัญชาตญานความชื่นชอบสัตว์ฟู่ๆ นุ่มๆ หน้าแบ๋วอย่างหมีแพนด้า และภูมิทัศน์ป่าโปร่งดั่งสวนปาร์คเป็นเรื่องยอดเซ็งในหมู่นักชีวะ บ่อยครั้งมันเป็นอุปสรรคต่อการอนุรักษ์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ งูถูกฆ่าตายมากมายทั้งๆ ที่มันเป็นงูไม่มีพิษ มีแต่ช่วยกินหนู โครงการฟื้นฟูป่าก็เป็นการปลูกสวน ป่าถูกทำลายแล้วบัวตองต่างถิ่นจากเม็กซิโกเข้ายึดครอง ก็เลิฟกันมากมายเพราะงามดั่งทุ่งดอกไม้สวิสเซอร์แลนด์ โปร่งโล่งสบายตา

แต่ ณ วันนี้ มันคงเป็นสายใยบางๆ ที่หลงเหลืออยู่ เชื่อมโยงจิตใจเรากับธรรมชาติ แม้จะเพียงบางด้านบางเหล่า เราจึงต้องเลี้ยงดูมันให้เติบโตงอกงามขยายพรมแดนก่อนที่มันจะถูกตัดขาดไปหมด เพราะเรารู้–จากข้อมูลวิทยาศาสตร์ซึ่งเรารับรู้ด้วยสมอง–ว่าชีวิตเราต้องการธรรมชาติที่หลากหลายและสมบูรณ์กว่าที่หัวใจโมเดิร์นผูกพัน

ความโหยหาธรรมชาติที่มนุษย์ชื่นชอบ เชื่อมโยงได้ไม่ยากนักและสอดคล้องกับความต้องการฟื้นฟูธรรมชาติในเมือง นี่เป็นก้าวง่ายๆ ที่เราเริ่มได้กับตัวเอง กับลูกหลานและคนรอบตัว พากันออกไปใช้เวลาอยู่กับต้นไม้ สังเกตตัวด้วงลายจุด มองหานกกินปลี และลองสังเกตความรู้สึกในใจเราเมื่อเราเจอะเจอมัน

อย่าให้ความรักธรรมชาติของเราเหลือเพียงถ่ายเซลฟี่กับต้นซากุระปลอมในห้างเลย

เพราะถ้าเราไม่รู้จัก เราก็ไม่รัก และเราจะไม่ให้ค่ากับธรรมชาติที่เกื้อกูลชีวิตเราอยู่ทุกวินาที แม้เราจะซื้อเห็ดกินจากซูเปอร์ก็ตาม


กรุงเทพธุรกิจ, สิงหาคม 2559

Share