in on August 25, 2016

รถยนต์ไฟฟ้าในไทย จะรุ่งไวจริงหรือ ???

read |

Views

กระแสโหมกระพือเรื่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีการเปิดให้บริการชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ในปั๊มน้ำมัน ปตท.ขึ้นแล้ว หลังรัฐบาลออกมาสนับสนุนเพราะต้องพยายามทุกวิถีทางในการลดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดโลกร้อนตามที่ได้ไปรับปากรับคำมาจากข้อตกลงปารีส ที่ไทยสมัครใจจะลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2563 ซึ่งส่วนหนึ่งของแผนก็คือรัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้ได้โดยเร็วซึ่งแลดูเหมือนว่ากระแสจะตอบรับเห็นทางรุ่ง เพราะเป็นพาหนะที่ไม่มีมลพิษ

oa3oem77o2x0tBBYK8f-o

เรื่องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถ้าเทียบกับรถยนต์ที่ต้องเผาผลาญน้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล แถมยังปล่อยไอเสียเป็นควันและสารพิษต่างๆ ทิ้งไปในบรรยากาศรอบข้าง ก็คงลดการปล่อยลงได้เยอะ เพราะเมื่อรถยนต์เปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้า สิ่งที่เห็นเหล่านั้นจะหมดไป แต่ก็ไม่ได้ลดการปล่อยได้มากกว่ารถยนต์จากเทคโนโลยีอื่นๆ เพราะข้อมูลจากนักวิชาการองค์การจัดการก๊าซเรือนกระจกระบุว่า รถยนต์ไฟฟ้าปล่อยก๊าซเรือนกระจก 150 กรัม/กม. เท่าๆ กับรถ Eco Car แต่รถที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุดคือรถ Hybrid ที่ปล่อยราว 100 กรัม/กม.

แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงกว่ารถที่ใช้น้ำมัน แต่ด้วยข้อมูลดังกล่าว ทำให้อีก 2-3 เหตุผลที่หลายฝ่ายยังคงมีความเห็นแย้งกับการรีบร้อนใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระยะเวลาอันสั้นนี้ ก็ดูน่ารับฟัง

เหตุผลหนึ่งก็คือ รถยนต์ไฟฟ้าเพียงแต่ย้ายแหล่งกำเนิดมลพิษเท่านั้น เพราะจากการเผาไหม้น้ำมันที่เกิดไอเสียขึ้นในบริเวณใกล้ตัวรถ  ก็ย้ายไปปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกที่โรงไฟฟ้าแทนซึ่งจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ผลิตไฟฟ้าหากเป็นวัตถุดิบที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากรถยนต์ไฟฟ้าก็อาจจะตอบโจทย์การลดก๊าซได้น้อยลงจึงขึ้นอยู่กับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าด้วยว่าผลิตไฟฟ้ามาจากอะไร

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องแบตเตอร์รี่ที่ตัวของมันเองเป็นของเสียอันตรายที่ต้องมีการจัดการอย่างถูกต้องเมื่อเลิกใช้ กับกระบวนการผลิตแบตเตอร์รี่ก็ไม่ใช่กระบวนการที่ไร้มลพิษเสียเลยทีเดียว

fda36077-27d4-4615-aa7c-4e2eac87db2a

ในแง่ของแวดวงอุตสาหกรรมรถยนต์ ระบุว่า ประเทศไทยควรจะพัฒนาในสิ่งที่ตัวเองมีและแข็งแรงก่อน เพราะฐานการผลิตรถยนต์ยังเป็นรถใช้น้ำมัน Eco Car และ Hybrid ซึ่งสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้พอๆ กัน แต่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้านั้นประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยีด้านการผลิตทั้งระบบรถและแบตเตอร์รี่ แม้ว่าประเทศต้นทางที่นำเข้าจะสัญญาว่าจะให้การสนับสนุนการเรียนรู้เทคโนโลยีเหล่านั้น แต่นักอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ก็คาดว่า ประเทศไทยก็ต้องตกเป็นเมืองขึ้นทางปัญญา จนกว่าประเทศเจ้าของเทคโนโลยีจะถอนทุนคืนได้หมดและมีกำไรจนพอใจ เมื่อนั้นจึงจะปล่อยเคล็ดวิชาทั้งหมดให้ประเทศไทย ซึ่งเรายังจะต้องฝึกหัดจนกว่าจะมีความเชี่ยวชาญพอที่จะผลิตเองได้ซึ่งนั่นหมายถึงการทุบทิ้งอุตสาหกรรมรถยนต์แบบเดิมไปเริ่มนับก้าวแรกกับอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ไม่คุ้นเคย พร้อมทั้งเห็นว่า การนำเทคโนโลยีใดๆ เข้ามาใช้ ควรจะต้องคำนึงถึงผล กระทบด้านต่างๆ และความพร้อมของผู้บริโภคด้วย

มาดูส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคบ้าง นอกจากเหตุผลเบาๆ ที่ว่า รถยนต์ไฟฟ้าวิ่งได้ 40-50 กม.ก็ต้องชาร์จไฟ หลายฝ่ายยังไม่แน่ใจกับพฤติกรรมผู้บริโภคแบบคนไทย ที่ต้องใช้เวลาชาร์จไฟฟ้าที่สถานีบริการ 30-40 นาที ยังไม่รวมการรอคิว ขณะที่ปัจจุบันรอคิวเติมน้ำมัน 10 นาทียังรอกันไม่ค่อยจะได้ กับราคาค่าไฟฟ้าที่จะชาร์จระหว่างกลางวันกับกลางคืนที่อาจจะแตกต่างกันมากถึงหน่วยละราว 4 บาท

อีกเหตุผลสำคัญที่อาจจะสกัดดาวรุ่งรถยนต์ไฟฟ้าก็คือ ราคาค่าแบตเตอร์รี่ที่แม้จะมีอายุการใช้งานราว 10 ปี  (ขึ้นอยู่กับวิธีการใช้และบำรุงรักษาคล้ายแบตเตอร์รี่โทรศัพท์มือถือ) แต่ก็ราคาแพงเกือบจะเท่าราคารถยนต์ เท่ากับว่า โดยเฉลี่ย 10 ปี ก็ต้องจ่ายค่าแบตเตอร์รี่ที่เกือบเท่ากับการซื้อรถคันใหม่

เป้าหมายของรัฐบาลในการผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 ระยะ ที่สุดท้ายในปี 2579 ต้องการให้มีรถไฟฟ้าใช้ในประเทศไทยถึง 1.2 ล้านคันนั้น ด้วยรูปการณ์เช่นนี้ ก็ไม่รู้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะรุ่งเร็วตามหวังหรือเปล่า

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: http://www.thairath.co.th/tv/live
  2. ภาพจาก : https://www.emaze.com/@AOTLICZZ/
จิตติมา บ้านสร้าง

รายงานสถานะการณ์สิ่งเเวดล้อมในบ้านเมืองกับนักข่าวสาว ผ่านมุมมองเเละเเง่คิดต่างๆ เเบบล้วงลับเจาะลึก

Email

Share