in on October 21, 2015

กินดีเพื่ออยู่ดี

read |

Views

ในสหรัฐอเมริกานั้น ทุก 5 ปี หน่วยงานรัฐบาลคือ กระทรวงเกษตร (US. Department of Agriculture หรือ USDA) และกระทรวงสุขภาพและบริการประชาชน (US. Department of Health and Human Services หรือ  HHS) ได้ร่วมกันประชุมเกี่ยวกับการสร้างข้อแนะนำการกินอาหารของคนในชาติ ซึ่งเรียกว่า Nation’s dietary guidelines

โดยระบุชนิดของอาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีในด้านน้ำหนักตัวและการป้องกันโรค ซึ่งที่ผ่านมาข้อแนะนำนี้มีการนำไปใช้ประยุกต์กับโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอาหารและสุขภาพของสาธารณะ เช่น โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน โครงการอาหารสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น

สำหรับข้อแนะนำของปี 2015 ซึ่งใกล้คลอดในอีกไม่ช้านี้ เป็นการแนะนำในกรอบกว้าง ๆ ที่หวังจะลดการได้รับสารอาหารเกินพอดีของร่างกาย ในรายงานของกรรมการที่กำลังสร้างข้อแนะนำนี้กล่าวว่า ข้อแนะนำใหม่นั้นยังยึดโยงกับข้อแนะนำในปี 2010 เป็นหลัก โดยจะกล่าวถึงความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยของอาหารซึ่งรวมถึง ความปลอดภัยของกาแฟ คาเฟอีนและน้ำตาลเทียมแอสปาเตม

มีสิ่งซึ่งค่อนข้างสำคัญเกิดขึ้นในคำแนะนำใหม่คือ ยกเลิกการจำกัดปริมาณของคอเลสเตอรอลที่ได้จากอาหารในแต่ละวัน โดยที่ผ่านมาหลายสิบปีนั้นคอเลสเตอรอลได้ถูกเข้าใจผิดว่า เป็นอาชญากรที่ทำร้ายหัวใจมนุษย์ โดยคำแนะนำใหม่ได้ยกเลิกการกำหนดให้กินอาหารมีคอเลสเตอรอลได้ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน (ซึ่งเท่ากับกินไข่ได้สองฟองต่อวันเท่านั้น)

ที่จริงแล้วร่างกายมนุษย์สร้างคอเลสเตอรอลขึ้นเองเพื่อใช้ทุกวัน ซึ่งอาจมากกว่าปริมาณที่กินจากอาหาร โดยขึ้นอยู่กับข้อกำหนดทางพันธุกรรมว่า แต่ละคนต้องการใช้คอเรสเตอรอลมากน้อยเพียงใด และกำจัดได้มากน้อยเพียงใด ที่สำคัญก็คือ คอเลสเตอรอลนั้นเป็นสารตั้งต้นที่ร่างกายใช้ในการสังเคราะห์วิตามินดี เมื่อผิวหนังได้รับแสงแดดช่วงเช้าและเย็น และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ คอเลสเตอรอลนั้นเป็นองค์ประกอบต้องมีสอดแทรกในไขมันที่เป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งอวัยวะที่มีคอเลสเตอรอลมากที่สุดคือ สมอง

อย่างไรก็ดีในข้อแนะนำการกินอาหารปี 2015 นี้ ยังมีข้อกำหนดที่คงที่เหมือนเดิมคือ การจำกัดการกินไขมันอิ่มตัว (ซึ่งอยู่ในเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น ขาหมูพะโล้) ให้น้อยไว้ และรวมถึงไขมันทรานส์ (ในขนมขบเคี้ยว) ด้วย โดยระบุว่าปริมาณไขมันทั้งสองรวมกันไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ควรได้ทั้งวัน อ่านดูก็น่าจะเข้าใจได้ง่ายแต่เมื่อจะปฏิบัตินั้นมันมักไม่ง่ายดังที่มีการเขียนไว้

ในตำราโภชนศาสตร์ทั่ว ๆ ไปมักเขียนว่า ผู้หญิงต้องการพลังงานทั้งวันราว 2000 กิโลแคลอรี ส่วนผู้ชายต้องการมากกว่าอีก 500 กิโลแคลอรี ตัวเลขนี้เป็นเพียงค่าเฉลี่ยเท่านั้น คำถามที่มักมีการถามเสมอว่า จะต้องกินอาหารอะไรบ้างจึงจะได้พลังงานไม่เกินข้อกำหนดของพลังงานที่ควรได้ คำตอบง่าย ๆ โดยไม่เปิดตำรานั้นไม่มี แต่มีวิธีปฏิบัติง่าย ๆ ดังนี้

ท่านผู้อ่านควรมีตาชั่งน้ำหนักตัวสัก 1 ตัว (ถ้าเป็นชนิดอ่านค่าเป็นตัวเลขก็จะดีมาก) เพื่อคอยชั่งน้ำหนักก่อนนอนว่า น้ำหนักเกินมาตรฐานที่ควรเป็นหรือไม่ (ซึ่งคิดเอาง่าย ๆ แล้วกันว่า ถ้าสูง 170 ซม หรือ 5 ฟุต 7 นิ้ว ก็ควรหนักประมาณ 70 กิโลกรัม โปรดดูภาพประกอบ) ถ้าวันใดน้ำหนักมากไปกว่าที่ควรเป็นสัก 1-2 กิโลกรัม สิ่งที่ต้องทำในวันรุ่งขึ้นคือตัดอาหารที่เป็นไขมันและแป้งออกเท่าที่ทำได้ แล้วเสริมผักและผลไม้ให้มากกว่าเดิม

ท่านควรพยายามชั่งน้ำหนักให้บ่อยไว้แล้วปรับเปลี่ยนปริมาณแป้งและไขมันเพื่อรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่ไม่ควรเกิน ซึ่งวิธีนี้ต้องอาศัยกำลังใจอย่างมาก ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือ ต้องออกกำลังกายให้ได้เหงื่อชุ่มหลายวันในแต่ละสัปดาห์เพื่อช่วยในการคุมน้ำหนักตัว

ส่วนปริมาณไขมันนั้นควรลดเท่าที่ทำได้ ดังที่ผู้เขียนมักแนะนำเสมอว่า เมื่อใดที่กินอาหารผัด ก็ขอให้เป็นผัดในน้ำมันพืช (เช่น น้ำมันจาก ถั่วเหลือง ข้าวโพด รำข้าว) เพราะเราต้องการกรดไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งจำเป็นต่อการสร้างเซลล์ใหม่ในร่างกาย และถ้ากินอาหารทอดกรอบก็ยินยอมให้กินอาหารที่ทอดในน้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัว (เช่น น้ำมันจาก ปาล์ม มันหมู หรือมันวัว) ซึ่งมักมีปริมาณเพียงติดอาหาร ที่สำคัญคือเลี่ยงอาหารชุบแป้งทอด (ซึ่งมักอร่อยมาก) เพราะแป้งเป็นตัวช่วยอุ้มไขมันให้มีมากจนน่ากลัว ส่วนเนื้อสัตว์นั้น ปลาน่าจะดีที่สุด (สำหรับบางคน) แต่สำหรับคนไม่ชอบปลาหรืออาหารทะเล (เช่นผู้เขียน) เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มที่ทันสมัย (แม้ว่าอาจต้องเสี่ยงกับยาปฏิชีวนะบ้างก็ตาม) ซึ่งใช้อาหารสัตว์ที่มีธัญพืชทั้งข้าวโพดและถั่วเหลืองเป็นองค์ประกอบน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะเนื้อสัตว์ในลักษณะนี้มักมีไขมันอยู่ในรูปไขมันไม่อิ่มตัว (ซึ่งได้จากอาหารที่สัตว์กินเข้าไป)

อีกประการซึ่งเป็นข้อกำหนดเก่าตั้งแต่ปี 2510 และสำคัญมากสำหรับฝรั่งและแขกก็คือ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของแป้งนั้นควรมาจากธัญพืชทั้งเมล็ด ซึ่งกรณีนี้ไม่เป็นปัญหาของคนไทยซึ่งเสพติดข้าวทั้งเมล็ดแบบผู้เขียน และที่ควรแนะนำเพิ่มสำหรับคนไทยคือ การกินข้าวที่มีสีเข้ม ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือเพื่อให้ได้ใยอาหารและไวตามิน โดยไปละลดเลิกยอดข้าวที่เรียก (แบบไร้สามัญสำนึก) ว่า น้ำมังสะวิรัติ

จากนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด (แต่ทำร้ายจิตใจมากที่สุด) คือ เราควรหยุดตักอาหารเข้าปากเมื่อใกล้อิ่มซึ่งเมื่อดื่มน้ำตามแล้วทำให้รู้สึกอิ่มพอดี

ผู้เขียนหวังว่าวิธีที่ได้แนะนำนี้ น่าจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้พลังงานและสารอาหารเกินความต้องการของร่างกายได้บ้าง เพราะจากงานวิจัยในสัตว์ทดลองหลายฉบับพบว่า การจำกัดการกินอาหารซึ่งเรียกว่า Dietary restriction นั้น ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและมะเร็งได้ดี

มีนักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพบางคนมองว่า การที่ข้อแนะนำการกินอาหารปี 2015 กำหนดปริมาณของไขมันอิ่มตัวในมื้ออาหารค่อนข้างต่ำนั้นเป็นความผิดพลาด เพราะไขมันเป็นแหล่งให้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับคนต้องการพลังงาน ซึ่งความเห็นนี้จะเป็นความจริงที่ต้องควบคู่ไปกับการระวังไม่ให้มีการกินพลังงานเกิน

ผู้เขียนเคยอ่านพบงานวิจัยที่ใช้หนูทดลองเพื่อพิสูจน์ว่า ไขมันหรือพลังงานรวมทั้งหมดของอาหารนั้น ปัจจัยใดมีผลต่อการเกิดมะเร็งเมื่อสัตว์ได้รับสารก่อมะเร็ง ผลปรากฏว่าหนูที่กินไขมันสูงนั้นเป็นมะเร็งมากกว่าหนูที่กินแป้งในน้ำหนักที่เท่ากัน แต่ที่น่าสนใจคือ ถ้าคำนึงถึงพลังงานแล้ว ปรากฏว่าหนูที่ได้อาหารพลังงานสูงสุด (โดยไม่ต้องสนใจว่าเป็นพลังงานจากไขมันหรือแป้ง) กลับเป็นมะเร็งมากที่สุด ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่า การควบคุมปริมาณพลังงานในอาหารแต่ละมื้อนั้นสำคัญมากที่สุด

สิ่งที่ควรคำนึงสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนักก็คือ ควรลดปริมาณอาหารมากกว่าปริมาณไขมัน (โดยเสริมผักและผลไม้เข้าไปเพื่อให้อิ่ม) เพราะไขมันนั้นเป็นตัวพาไวตามินสำคัญคือ เอ อี ดี เค เข้าสู่ร่างกาย การลดปริมาณไขมันมากเกินไปย่อมมีผลต่อปริมาณไวตามินทั้งสี่ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้ลดน้ำหนัก เพราะไขมันนั้นนอกจากให้พลังงานแล้วยังถูกนำไปสร้างเป็นฮอร์โมนซึ่งเป็นตัวคุมระบบการทำงานหลาย ๆ อย่างของร่างกายอีกด้วย

ประการหนึ่งท่านผู้อ่านคงเคยได้เห็นข้อความที่นักวิชาการชอบใช้คำว่า ไขมันดี และ ไขมันเลว(ร้าย) สำหรับไขมันคำหลังนั้นมักหมายถึง LDL หรือ low density lipoprotein ซึ่งมีคอเลสเตอรอลสูง แต่ตามข้อแนะนำในการกินอาหารของสหรัฐอเมริกาใหม่นั้น คอเลสเตอรอลดูจะไม่มีปัญหาแล้ว ถ้าคน ๆ นั้นมีทุกอย่างปรกติ ดังนั้นในอนาคตความเข้มข้นของ LDL จะยังเป็นตัวบ่งชี้ถึงปัญหาของหลอดเลือดแดงหรือไม่ ก็คงต้องรอดูผลการวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ต่อไป

แต่ในกรณีของไขมันดีนั้น นอกจากหมายถึง HDL หรือ high density lipoprotein ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นตัวจับคอเลสเตอรอลออกจากเลือดนั้น ก็ยังมีไขมันตัวอื่นอีกเช่น โอเมกา-3 ซึ่งมนุษย์สังเคราะห์ขึ้นเองไม่ได้ แต่พบมากในน้ำมันปลา (ทั้งที่ความจริงปลาไม่ได้เป็นผู้สร้างไขมันนี้ แต่ปลากินแพลงตอนซึ่งเป็นผู้สร้างไขมันนี้เข้าไปเป็นอาหารซึ่งหลังถูกย่อยแล้ว ไขมันนี้จึงเข้าสู่ระบบเนื้อเยื่อภายในตัวปลาอีกที) ปลาหมึก กุ้งเคย (krill) และเมล็ดพืชน้ำมันต่าง ๆ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง วอลนัท เป็นต้น

น้ำมันโอเมกา-3 นั้นมนุษย์ต้องการในระดับหนึ่งเพื่อประโยชน์ของร่างกาย แต่ถ้ามากเกินไป (เช่นการกินเป็นอาหารเสริมซึ่งมักสกัดจากซากปลาที่ออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม) โอกาสเกิดปัญหาย่อมเกิดขึ้น

โดยปรกติแล้วเมื่อแพทย์สั่งให้กินโอเมกา-3 (หรือที่ประชาชนรู้ดีในชื่อ น้ำมันปลา) นั้นก็หมายความว่า น้ำมันนี้อยู่ในลักษณะของยาที่ต้องได้รับการดูแลการใช้จากแพทย์ ทั้งนี้เพราะน้ำมันปลานั้นถูกระบุใน Pharmacopoeia ของหลายประเทศว่า สามารถลดความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจ โอกาสสมองขาดเลือด (stroke) ความดันโลหิตสูง ความซึมเศร้า อาการสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder) ปวดข้อ ข้ออักเสบ (rheumatoid) โดยมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้คือ ร่างกายลดการสร้างเกล็ดเลือด ดังจะกล่าวต่อไป

ดังนั้นในการกินน้ำปลาเองโดยอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ (ไม่ว่าฉบับไหนก็จะให้สิทธิเสรีภาพแก่พลเมืองในประเด็นนี้) นั้น ผู้อ้างก็ควรทราบว่าท่านต้องรับความเสี่ยงในหลายเรื่องเช่น ในเว็บของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (www.health.harvard.edu) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2513 ได้รายงานภายใต้หัวข้อข่าว Fish oil: friend or foe? ว่า จากการทำวิจัยของ Fred Hutchinson ซึ่งทำงานที่ศูนย์วิจัยมะเร็งของเมืองซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน นั้นได้พบความสัมพันธ์ระหว่างการกินน้ำมันปลาในขนาดสูงต่อความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก (ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ถูกส่งไปตีพิมพ์ใน วารสาร   Journal of the National Cancer Institute)

งานวิจัยดังกล่าวนี้ถ้าดูเผิน ๆ ก็คงบอกว่า งั้นผู้หญิงก็คงไม่เป็นไรเพราะไม่มีต่อมลูกหมาก แต่จริงแล้วปรากฏว่า งานวิจัยนี้ทำเฉพาะในผู้ชายเท่านั้น โดยตอนแรกตั้งความหวังว่า การกินน้ำมันปลาเยอะ ๆ จะลดความเสี่ยง แต่ผลการศึกษากลับเป็นในทางตรงข้าม ดังนั้นผลการวิจัยในผู้หญิงคงต้องรอก่อนว่าใครจะทำหรือไม่

นอกจากนี้ในการศึกษาเพื่อสนับสนุนความหวังว่าน้ำมันปลาจะลดความเสี่ยงของโรคหัวใจวายโดยแพทย์ชาวอิตาลี (ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine 2013; 368:1800-1808 เมื่อ 9 พฤษภาคม 2013) นั้น ปรากฏว่าผู้ศึกษาไม่พบความหวังในเรื่องนี้เลย โดยการศึกษานั้นเป็นความร่วมมือของเครือข่ายแพทย์ 860 คน ทำการศึกษาโดยใช้อาสาสมัคร (ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ) จำนวน 12,513 คน โดยแบ่งให้ 6244 คน กินน้ำมันปลาวันละ 1 กรัม นาน 1 ปี ในขณะที่ 6269 คน ได้กินน้ำมันมะกอก (ทำหน้าที่เป็นยาหลอก) ในเวลาเท่ากัน

อีกประเด็นซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับการกินน้ำมันปลาก็คือ น้ำมันปลานั้นเมื่อใช้เป็นยาแล้วมีข้อบ่งชี้ว่า ลดสภาวะเลือดข้นในคนไข้บางคนได้ (โดยเข้าใจกันว่ามันไปลดปริมาณเกล็ดเลือดซึ่งมีมากเกินความจำเป็นในการทำหน้าที่ให้เลือดหยุดไหลเมื่อเป็นแผล) ดังนั้น Dana-Farber Cancer Institute ในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ จึงแนะนำคนไข้ให้งดการกินน้ำมันปลาก่อนผ่าตัด 2 อาทิตย์ เพราะกลัวว่าขณะผ่าตัดแล้วเลือดจะไหลไม่หยุด แต่ไม่ได้หมายความว่าให้งดกินปลาหรือน้ำมันจากพืชซึ่งเป็นอาหารที่ให้น้ำมันโอเมกา-3 บ้างพอควร อย่างไรก็ดีข้อมูลในลักษณะนี้ก็ต้องฟังหูไว้หูเพราะงานวิจัยที่กล้าบ่งถึงความเสี่ยงในเรื่องนี้ยังไม่มีตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ผู้บริโภคน้ำมันปลาเป็นเม็ดจึงต้องตัดสินใจเอง

การที่ผู้เขียนได้เขียนเรื่องน้ำมันปลามายืดยาวนั้น เพียงเพื่อยกตัวอย่างให้เห็นว่า ไขมันดีนั้น เมื่อไม่ได้กินในรูปที่มันเป็นองค์ประกอบของอาหารแล้ว ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อาจระบุความเสี่ยงในบางประการที่อาจเกิดขึ้นได้ (ถ้ามีผู้สนใจศึกษาไว้) ในการกินน้ำมันปลานั้นเป็นเรื่องความชอบส่วนบุคคลตามสิทธิแห่งรัฐธรรมนูญ (อีกแล้วครับท่าน) ว่า ต้องการกินในรูปเม็ดมากกว่ากินเป็นเนื้อปลา

นอกจากนี้ข้อแนะนำในปี 2015 นั้นยังเพิ่มความเกี่ยวข้องของการกินอาหารและสิ่งแวดล้อมโดยกล่าวว่า การเปลี่ยนไปกินอาหารเพื่อสุขภาพซึ่งลดปริมาณเนื้อสัตว์แต่เพิ่ม ผัก ผลไม้ ซึ่งรวมถึงถั่วเปลือกอ่อนและถั่วเปลือกแข็งนั้นช่วยลดโลกร้อน ซึ่งน่าขำมากเนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศไม่มีการให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโตหรือ Kyoto Protocol ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อบรรลุ “เสถียรภาพความเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจกในบรรยากาศที่ระดับซึ่งจะป้องกันการ รบกวนอันตรายจากน้ำมือมนุษย์กับระบบภูมิอากาศ”  ที่น่าเจ็บใจคือ ยังไม่เห็นประเทศใดกล้าจัดอันดับสหรัฐอเมริกาว่ามีสถานะภาพเช่นใดกับสิ่งแวดล้อมโลก ผิดกับสหรัฐอเมริกาที่เที่ยวจัดอันดับประเทศต่าง ๆ ตามประเด็นที่ตนชอบใจหรือไม่ชอบใจ (ล่าสุดเมื่อ 2 กันยายน 2558 ผู้เขียนเพิ่งเห็นข่าวว่า โอบามาจะสนับสนุนทุกวิถีทางในการที่ทำให้สหรัฐมีส่วนในการช่วยลดโลกร้อน ประเด็นนี้ถ้าเป็นจริงก็คงเป็นกุศลแก่คนทั้งโลก)

ประเด็นที่ดูเหมือนว่า ข้อแนะนำการกินอาหาร 2015 ของคนอเมริกันได้เดินไปในแนวทางที่ดีขึ้นก็คือ ข้อแนะนำให้เขี่ยน้ำตาลและไขมันทรานส์ (ซึ่งมักอยู่ในมาการีนและเนยขาว) ออกไปจากจานอาหาร

ในกรณีของน้ำตาลนั้น ในข้อแนะนำการกินอาหาร 2015 แนะว่า ของหวานนั้นกินได้แค่เมื่อคำนวณเป็นพลังงานต่อวันแล้วไม่เกินร้อยละ 10 ซึ่งผู้เขียนพยายามนึกภาพอย่างไรก็นึกไม่ออก เพราะมโนไม่ค่อยเก่ง แต่เพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติตนสำหรับคนไทยคือ อย่ากินหวาน เครื่องดื่มประเภทกาแฟโบราณหรือไม่โบราณ (ซึ่งชงเข้มข้นและหวาน) โดยมีราคาถ้วยละ 20 บาท ขึ้นไปนั้น ต้องหย่าขาดไปเลย แต่ถ้าอดรนทนไม่ไหว ก็ 3 in 1 ซองละไม่เกิน 3 บาท (ซึ่งทุกยี่ห้ออร่อยน้อยเหมือนกัน) แต่จะได้รับไขมันทรานส์นิดหน่อยซึ่งพออนุโลมได้ และพยายามอย่าลักลอบมีความสัมพันธ์กับน้ำอัดลม (ถ้าไม่เหนื่อยเหมือนขาดใจจนต้องการน้ำตาลไปเลี้ยงสมอง) ที่สำคัญขนมที่ควรลืมว่ามีในโลกนี้คือ ทองหยิบ ฝอยทอง และขนมที่บินมาจากญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป เพราะขนมเหล่านี้แค่คำเดียวโต ๆ ก็ได้พลังงานเกินข้อแนะนำแล้ว

นักวิชาการด้านสุขภาพบางคนกล่าวว่า ข้อแนะนำการบริโภคอาหารใหม่นี้ค่อนข้างดีกว่าของเก่า โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสารให้ความหวานเทียม (หรือที่เราเรียกว่า น้ำตาลเทียม) ในแง่ที่ระบุว่า สารสังเคราะห์นี้ไม่ได้ช่วยในการลดน้ำหนักอย่างจริงจังนัก (โดยไม่เกรงใจผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ซึ่งสนับสนุนทุกรัฐบาล)

สำหรับอาหารที่ปรากฏอยู่บนจานของชาวอเมริกันนั้น ถ้าเป็นอาหารที่ผลิตทางอุตสาหกรรมแล้วโอกาสรอดจากไขมันมันทรานส์ยากมาก ซึ่งแต่ละครอบครัวควรคิดใหม่ทำใหม่ได้แล้วโดยเฉพาะกับอาหารของเด็กเพราะที่ผ่านมาอาหารที่ผลิตจากอุตสาหกรรมดูเหมือนมีผลต่อระดับสติปัญญาของเด็กอเมริกันด้วย ซึ่งสนับสนุนด้วยงานวิจัยเรื่อง Are dietary patterns in childhood associated with IQ at 8 years of age? A population-based cohort study (Journal of Epidemiology and Community Health ตีพิมพ์ออนไลน์เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2554) พบว่าเด็กที่กินอาหารที่ผลิตทางอุตสาหกรรมตั้งแต่อายุ 3 ปี มีค่า IQ ต่ำกว่าที่ควรเมื่อทำการวัดเมื่อเด็กอายุ 8 ปี และนิตยสาร Times ออนไลน์ฉบับวันที่ 23 ธันวาคม 2557 ได้มีบทความชื่อ Kids Who Eat More Fast Food Get Worse Grades ซึ่งเหมือนจะแนะนำพ่อแม่ชาวอเมริกันว่า ไม่ควรให้เด็กกินอาหารประเภทนี้อีกแล้ว ถ้ายังอยากให้สหรัฐอเมริกายังคงถูกจัดเป็นประเทศพัฒนาแล้วเหมือนเดิม

ประเด็นที่น่าสะใจมากที่สุดถ้าหน่วยราชการไทยจะนำข้อแนะนำการกินอาหาร 2015 มาใช้คือการแนะนำว่ากาแฟนั้นดื่มได้ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นเท่านั้น ส่วนเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูงนั้นควรหาทางเลี่ยงเพราะคณะกรรมการที่ทำข้อแนะนำนั้นยังเบลออยู่กับข้อมูลว่ามันปลอดภัยหรือไม่ (ยิ่งพอมีข่าวซึ่งหาดูได้ใน YouTube ว่า ถ้ากินเครื่องดื่มผสมคาเฟอีนพร้อมกับเหล้าแล้ว โอกาสจอดไม่ต้องแจวสูงมาก)

ข้อแนะนำการกินอาหาร 2015 นี้ใกล้คลอดแล้วทุกขณะ ซึ่งมันจะมีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ก็ขึ้นกับการที่ประชากรชาวอเมริกันจะปฏิบัติหรือไม่ และถ้ามีการนำมาดัดแปลงมาเพื่อให้คนไทยได้ใช้นั้นมันก็เป็นเพียงข้อแนะนำ ซึ่งหน่วยงานทางราชการคงต้องพยายามกระตุ้นอย่างสุดพละกำลัง โดยเฉพาะองค์กรอิสระอย่าง สสส. คงต้องทุ่มสุดตัว เพื่อให้ใครก็ตามที่จะดูแลรายจ่ายของรัฐจากเงินรายได้ซึ่งเป็นภาษีของเราจะได้ไม่เปลี่ยนแปลงวิธีนำภาษีบาปมาอุดหนุนองค์กรนี้ไม่งั้นก็ตัวใครตัวมัน ถ้าข่าวที่ว่ามีการดำริจะเปลี่ยนแปลงวิธีได้มาซึ่งเงินที่ใช้สนับสนุนองค์กรนี้เป็นความจริง

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://www.pexels.com/photo/food-vegetarian-kitchen-cooking-33242/
  2. ภาพจาก: http://www.millenniumhealth.co.uk/dramatically-different-dietary-advice/
  3. ภาพจาก: http://www.millenniumhealth.co.uk/dramatically-different-dietary-advice/
เเก้ว กังสดาลอำไพ

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ เป็นนักพิษวิทยาที่กินเงินบำนาญ จึงมีเวลาเขียนบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการ ในคอลัมน์ กินดีอยู่ดี โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สอน วิจัยและเป็นประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการในมหาวิทยาลัยมหิดลนาน 31 ปี มาเขียนบทความกึ่งวิชาการที่ประชาชนทั่วไปน่าจะได้รู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจะได้ไม่ถูกลวงในภาวะสังคมปัจจุบันที่แทบจะเชื่อใครไม่ได้เลยในอินเตอร์เน็ท

Email

Share