in on March 17, 2016

เมื่อขยะล้นเมือง

read |

Views

เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฉันมีโอกาสได้เข้าร่วมงาน “บางกอกแหวกแนว” เทศกาลแห่งความคิด ซึ่งจัดขึ้นที่ มิวเซียมสยาม บ้านจักรพงษ์และโรงเรียนราชินี ขอบอกเลยว่างานนี้ไม่ได้เก๋แต่ชื่อ หรือมีแค่สินค้าเก๋ๆ กิจกรรมบันเทิงสนุกๆ เท่านั้น แต่ยังมีการจัดเสวนาเล็กๆ แยกย่อยไปหลายเรื่องตามความสนใจ

เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนได้แลกเปลี่ยนความคิดให้เฟื่องฟูเหมือนคำโปรยของชื่องาน ซึ่งความรู้ที่ได้รับจากแต่ละห้องเสวนาไม่เล็กเอาซะเลย หนึ่งในห้องที่ฉันเลือกฟัง เสวนากันในหัวข้อ “กรุงเทพฯ แนวไหน?” นอกจากเนื้อหาจะใกล้ตัวเรามากๆ แล้ว ในสภาพสังคมที่ผู้คนมีความคิดมีรสนิยมไม่เหมือนกัน การจัดงานแบบนี้จึงอาจเป็นตัวเชื่อมความแตกต่างให้อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว หลังฟังเสวนาแล้วก็เกิดแรงบันดาลใจให้ฉันคิดฟุ้งมากมายเกี่ยวกับปัญหาขยะล้นเมือง วันนี้เลยอยากแชร์แรงบันดาลใจนั้นให้ได้อ่านกันค่ะ


เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า เมื่อก่อนฉันใช้ความเป็นชนบทของตัวเองวาดภาพกรุงเทพฯ ว่ามันควรจะไม่มีรถติดแออัด เหมือนเช่นที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน แต่เมื่อได้ร่วมเขียนความคิดเห็น แลกเปลี่ยนในการเสวนาภายใต้คำถาม “กรุงเทพฯ แนวไหนที่เราอยากได้?” ดูเหมือนผู้คนไม่ได้กังวลถึงปัญหารถติดมากเหมือนกับที่ฉันคิด คำตอบของผู้เข้าร่วมฟังเสวนากล่าวถึงมากที่สุดคือ อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสีเขียว สะอาดปลอดภัย และพร้อมรับมือกับภัยพิบัติได้ และเหตุผลอื่นๆ รองลงมา เช่น เป็นเมืองหนังสือ หรือมีพื้นที่สาธารณะสำหรับทำกิจกรรมร่วมกันเพิ่มขึ้น เเละอื่นๆ อีกมากที่ยังไม่ได้กล่าว

“เมือง” ถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างที่ ผู้ดำเนินรายการ (ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว) พูดจริงๆ เพราะเมืองเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การปกครอง และวัฒนธรรม ฉันรู้สึกเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการเปรียบเปรยเมืองที่แผ่ขยายไปทุกทิศทาง ว่าเป็นเหมือน ปรสิตหรือพยาธิ เรารู้ดีว่ามันย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก การเติบโตของเมืองสูบใช้ทรัพยากรรอบข้างอย่างมหาศาล มากถึงร้อยละ 75 ของที่มนุษย์บริโภคทั้งหมด ไม่วายเมืองยังโยนภาระอันหนังอึ้งให้กับโลก ด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แถมยังก่อให้เกิดขยะจำนวนมหาศาลในแต่ละปี เรียกได้ว่า ขยะทั่วโลกครึ่งหนึ่งเป็นผลผลิตมาจากเมืองนี่เอง และนี่คงเป็นเหตุให้ เมืองสะอาด เป็นคำตอบของความต้องการ ในกระดาษโพสต์อิท แผ่นน้อย ของหลายๆ คน ในห้องเสวนานี้

ปัจจุบันประชากรของโลกมีการเคลื่อนย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองมากกว่าชนบท ประเทศไทยเอง ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนั้น เท่ากับว่าตอนนี้เมืองเป็นสถานที่ที่มีความหลากหลายของคน ทั้ง เพศ วัยศาสนา และวัฒนธรรมต่างๆ ในความหลากหลายนี้เอง ที่ก่อให้เกิดขยะขึ้น เราลองมาดูข้อมูลภาพรวมขยะในกรุงเทพฯกัน

เว็บไซต์ “กรุงเทพมหานคร” (BANGKOK METROPOLITAN ADMINISTRATION) ระบุปริมาณขยะในกรุงเทพฯ ไว้ว่า ในปี 2557 กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะ 3,626,027 ตันต่อปี เฉลี่ยแล้วคนกรุงเทพฯ ผลิตขยะวันละ 9,934 ตันต่อวัน นอกจากนี้ยังมีประมาณการปริมาณขยะในปี 2558-2560ว่ามีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นทุกปีอีกด้วย (สนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.bangkok.go.th/upload/user/00000130/Logo/statistic/stat2557(thai).pdf)

ประเด็นหนึ่งในวงเสวนาที่น่าสนใจคือ ข้อมูลการเก็บขนขยะจากคุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาที่ว่า จำนวนบุคลากรที่เก็บขนขยะในกรุงเทพมีประมาณ 10,200 คน แบ่งเป็นพนักงานเก็บขน ประมาณ 7,700 คน (ส่วนที่เหลือเป็นพนักงานขับรถ) เท่ากับว่าพนักงานเก็บขยะ 1 คน จะต้องเก็บขนขยะให้เรามากถึง 1.29 ตันต่อวัน หลังจากฟังข้อมูลนี้แล้ว แน่นอนว่าฉันนึกภาพขยะปริมาณมหาศาลได้ชัดขึ้นมากทีเดียว

ปัจจุบัน…กรุงเทพฯ ปัดภาระการจัดการด้วยการส่งต่อขยะไปทิ้งในจังหวัดใกล้เคียงอย่าง นครปฐม สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา ทำให้ที่ผ่านมาเราได้ยินข่าวปัญหาวิกฤตขยะในจังหวัด ฉะเชิงเทราและสมุทรปราการอยู่บ่อยๆ ซึ่งที่จริงแล้ว นั่นคือขยะของชาวกรุงฯ นี่แหละ นอกจากนี้ยังมีปัญหาไฟไหม้บ่อขยะซ้ำซากและพบการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมอยู่เสมอ ขยะที่กรุงเทพฯ พยายามผลักออกไปมันได้กลายเป็นภาระอันหนักอึ้งที่เพื่อนจังหวัดข้างเคียงต้องแบกรับผลกระทบ ยังไม่นับว่าขยะกองมหึมานี้ ส่งกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งกระจายเชื้อโรค กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในธรรมชาติ หรือส่งผลเสียหายในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมขนาดไหน ถ้าจะยกตัวอย่างผลเสียให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นนี้ ฉันคิดว่าเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่บ่อขยะแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อช่วง 16-22 มีนาคม 57 ที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่ดีทีเดียว

เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ แน่นอนว่าผลกระทบของมันคือสร้างความเสียหายให้กับบ่อขยะและพื้นที่บริเวณนั้น ควันไฟที่ลอยคละคลุ้ง ไม่ใช่แค่ส่งกลิ่นเหม็นแต่เต็มไปด้วยมลพิษ สร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง เว็บไซต์สำนักข่าวออนไลน์ ไทยพับลิก้า ระบุว่า “ผลตรวจสอบคุณภาพอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในช่วงที่เกิดเหตุเพลิงไหม้พบว่า ชุมชนในรัศมี 1 กิโลเมตรรอบบ่อขยะ มีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐาน 20-30 เท่า และพบฝุ่นขนาดเล็กมากปริมาณถึง 350 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่ามาตรฐาน 30 เท่า โดย คพ. ระบุว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ และควรอพยพประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 1.5 กิโลเมตรรอบบ่อขยะออกจากพื้นที่” (สนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://thaipublica.org/2014/08/praksa-1/)

เห็นได้ชัดว่าขยะที่เราทิ้งส่งผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อมขนาดไหน ฉันคิดว่าถ้าเรารับผิดชอบกับขยะในมือเราให้มากขึ้น โดยการทำให้มันเกิดประโยชน์  มากกว่าที่จะเป็นแค่สิ่งด้อยค่ารอเวลาถูกทำลาย เหมือนที่ผ่านมา ที่มีตัวอย่างการจัดการขยะที่น่าชื่นชมปรากฏให้เราได้เห็นอยู่ไม่น้อยทีเดียว

ภายใต้ สโลแกน ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ ปัจจุบันองค์กรต่างๆ โรงเรียน ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างก็ส่งเสริมให้บุคลากร ประชาชน นักเรียน นักศึกษา จัดการขยะอย่างถูกวิธี ไม่ใช่แค่ภายในโรงเรียนหรือภายในบริษัทเท่านั้น แต่หมายถึงทุกที่ทุกเวลา การจัดการขยะมีหลายวิธี บางวันเราอาจทำไปบ้างแล้วโดยที่ไม่ได้คิดอะไร หากต้องการจัดการขยะง่ายๆ ด้วยตัวเอง ฉันคิดว่าต้องเริ่มจากการคุมกำเนิดขยะให้มีน้อยที่สุด เริ่มจากการพกถุงผ้าไปซื้อของลดการใช้ถุงพลาสติก เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดขยะมาก เช่น จะดื่มนมถั่วเหลือง แทนที่จะซื้อแบบกล่องหรือแบบ Take away ก็ซื้อแบบคืนขวดแทน หรือไม่ก็พกกระติกไปอุดหนุนอาแปะรถเข็นขายน้ำเต้าหู้ข้างทางก็ยิ่งดี เพราะนอกจากจะไม่สิ้นเปลืองจากแพ็กเกจแล้ว ยังไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงานในการขนส่งและเก็บรักษาจากโรงงานสู่ตู้แช่ในร้านสะดวกซื้อ ลองนึกดูเราสามารถลดการเกิดขยะได้อย่างไรอีกบ้าง หลายอย่างเราเริ่มทำได้ด้วยตนเองเพียงตระหนักสักนิด เปลี่ยนพฤติกรรมสักหน่อย วิธีลดขยะนี้ถือเป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางโดยตรง

แต่หากมีขยะเกิดขึ้นแล้ว เราก็ต้องหาประโยชน์จากมันให้ได้มากที่สุด เริ่มจากการแยกขยะหากแยกประเภทได้ดี เราย่อมสามารถนำขยะเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ต่อได้ง่าย แม้หลายคนอาจเอือมระอาที่บ้านเมืองเรา ยังขาดระบบคัดแยกขยะที่ดีเหมือนเมืองนอก แต่แท้จริงแล้วเรายังพอมีช่องทางที่ทำให้การแยกขยะของเราไม่เสียแรงโดยเปล่าประโยชน์ เช่น เอาขยะเศษอาหารที่ย่อยสลายได้ไปทำปุ๋ย เก็บขวดแก้ว พลาสติก กระดาษ โลหะ จัดแยกให้ดีแล้วนำไปขายซาเล้ง เงินที่ได้มาอาจไม่มากนัก แต่นั่นเป็นการรับรองว่าขยะทุกชิ้นที่เขาซื้อไปจะต้องกลับสู่กระบวนการผลิตใหม่ (Recycle) อย่างแน่นอน

ขยะบางประเภทก็ไม่ควรได้ชื่อว่าเป็นขยะเพียงเพราะถูกใช้ไปแค่ครั้งเดียวมันสามารถนำมาใช้ซ้ำหรือดัดแปลงให้มีประโยชน์ด้านอื่นได้ไม่ยาก

กองขยะกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาที่บ่อขยะแพรกษาและที่อื่นๆ อาจดูไกลหูไกลตาจนเราอาจเผลอไม่รับรู้ผลจากน้ำมือของตนเองเราต้องรอจนถึงวันที่ตื่นเช้ามามองเห็นภูเขาขยะอยู่หน้าบ้านเสียก่อนหรือจึงจะสนใจไตร่ตรองอย่างจริงจังถึงเวลาแล้วหรือยังคะที่เราจะไม่ยอมเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอีกต่อไปกรุงเทพฯแนวไหนที่เราอยากเห็นอาจไม่สำคัญเท่าเราได้ลงมือทำอะไรสักอย่างหรือยังเพื่อให้กรุงเทพฯเป็นดังฝันดั่งที่ใจเราปรารถนาฉันแบ่งปันเรื่องนี้ด้วยความหวังว่าจะมีส่วนในการแก้ไขปัญหาแม้จะเป็นกระบอกเสียงเล็กๆในสังคมแต่ถ้าไม่เริ่มที่ตนเองแล้วเราจะไปหวังอะไรกับใครได้

… ขยะในมือจะเกิดประโยชน์ หรือสร้างภาระ คุณคือผู้ตัดสินใจ 


ผู้เขียน: กรรณิการ์ พลอยสว่าง (นักศึกษาฝึกงาน)
Green world Foundation

ข่าว และ บทความจากทีมงานมูลนิธิโลกสีเขียว เพื่อความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมไทย

Email

Share