in on December 21, 2016

ผัสสะภาวนา สัมผัสธรรมชาติ(1)

read |

Views

ลองนึกถึงชั่วขณะหนึ่งในชีวิตที่คุณสงบนิ่ง แต่ตื่นตัวทั่วพร้อม รับรู้ว่าตนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจักรวาลและธรรมชาติรอบตัว

มันอาจเป็นคืนเดือนมืดเงียบสงัด ที่คุณบังเอิญตื่นมาเห็นดาวกระจายเต็มท้องฟ้า หรืออาจเป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่งของฉันที่จดจำภาวะนั้นในยามเย็นกลางทะเลทราย รู้สึกได้ถึงความปิติสุขไร้พรมแดน เป็นความปิติที่แผ่ซ่านกว้างใหญ่ไพศาล

หรือคุณอาจมีประสบการณ์รู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบันขณะ ใจนิ่งแต่ประสาทสัมผัสเปิดรับความเป็นไปรอบตัวพร้อมกันทั้งหมด ขี่จักรยานไปข้างหน้าท่ามกลางจราจรรถยนต์ขวักไขว่ แต่รับรู้ว่ามีอะไรเคลื่อนที่อย่างไรอยู่ทั้งด้านข้างและข้างหลังโดยไม่ต้องหันไปมอง ล่วงรู้ว่าจะมีอะไรเคลื่อนมายังจุดไหนในวินาทีต่อไปโดยไม่ต้องหยุดคิดวิเคราะห์

ลองถามคนรอบตัว คุณอาจพบว่าเราๆ ท่านๆ หลายคนล้วนมีชั่วขณะเช่นนั้นในชีวิต ตัวฉันเองหลุดเข้าไปในภาวะแบบนั้นเป็นครั้งคราวโดยบังเอิญ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในพื้นที่ธรรมชาติงดงาม และครั้งหนึ่งมีสัตว์ต่างๆ ที่อยากเจอเข้ามาหาเหมือนในเทพนิยาย ฉันเคยเขียนเล่าถึงมันในคอลัมน์นี้ เป็นเหตุการณ์วิเศษที่จะจดจำไปชั่วชีวิต

แต่มันจะเป็นอย่างไร หากแทนที่เราจะหวังได้โชคของอลิศ บังเอิญตกลงรูโพรงกระต่ายสู่ดินแดนมหัศจรรย์ เรากลับสามารถฝึกฝนการรับรู้ของตัวเองให้จูนคลื่นกับโลกธรรมชาติได้ดีขึ้น ละเอียดขึ้น จนมันเป็นภาวะปกติ

หลายเดือนที่ผ่านมานี้ ฉันเขียนถึงงานศึกษาวิจัยต่างๆ ที่บ่งบอกถึงความผูกพันอย่างลึกซึ้งและซับซ้อนระหว่างร่างกายและจิตใจของเรากับธรรมชาติ ถึงวันนี้ก็ยังคงมีข้อมูลให้เขียนเล่าได้อีกมาก เพราะมันกำลังเป็นเรื่องที่วงการวิทยาศาสตร์มากมายหลายสาขาให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นชีววิทยา แพทย์ศาสตร์ จิตวิทยา งานวิจัยสมอง หรือการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ของมนุษย์ โดยเฉพาะการเรียนรู้ของเด็ก

แต่ให้เขียนไปอีกกี่บท มันก็เพียงตอกย้ำประเด็นเดิมว่าสุขภาพกายและใจของเราต้องการสัมพันธ์กับธรรมชาติ ชีวิตเราทุกด้านล้วนมีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงขึ้นเมื่อเราฟื้นฟูความสัมพันธ์กับธรรมชาติ

เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นระบบนิเวศเคลื่อนที่ได้หน่วยหนึ่งที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ลื่นไหลแลกเปลี่ยนกับระบบนิเวศธรรมชาติภายนอกตลอดเวลา เราทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน

ทุกคนที่อ่านหนังสือวิทยาศาสตร์มากพอรู้สัจธรรมข้อนี้ดีอยู่แล้ว แต่มันเป็นเพียงสมองเราที่รับรู้ข้อมูลมา มันต่างจากการรับรู้ด้วยประสบการณ์ตรงจากผัสสะทั้งร่างกาย

ในช่วงนี้ ฉันจึงอยากจะชวนมาค้นหาแนวทางปฏิบัติ มาดูว่ามันมีเทคนิคเจ๋งๆ อะไรบ้างที่จะช่วยให้เราฟื้นฟูความสัมพันธ์กับธรรมชาติขึ้นมาได้ใหม่ ในยุคที่เราโตมากับการกดปุ่มในเมืองและชีวิตเร่งรีบจ้องจอ

วิถีชีวิตคนเมืองสมัยใหม่ทำให้เราคุ้นชินกับการตัดความสัมพันธ์จากสรรพสิ่งรอบตัวเพื่ออยู่กับความคิดและธุระของตัวเอง เราสร้างเกราะล่องหนไว้ อาซิ้มด่าอีซ้อก็ไม่ต้องรับรู้ เราตัดสิ่งรบกวนออกไปได้อัตโนมัติ สมาธิแบบนี้มันก็ดี แต่เหรียญอีกด้านคือ เมื่อเราออกไปอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ เรารู้สึกว่ามันไม่มีอะไร ก็เขียวสดชื่นดี แต่แล้วไง จะให้ทำยังไงต่อ จะเริ่มเรียนรู้จักธรรมชาติมากขึ้นได้อย่างไร? อุ๊บส์! โปเกมอนโผล่มา ขอจับก่อนนะ

จับไปเลยค่ะ ตามสบาย แค่ได้ออกไปเดินฟักไข่ในสวนร่างกายเราก็ได้ประโยชน์แล้ว แต่ถ้าอยากจะรู้จักธรรมชาติมากขึ้น สิ่งแรกที่น่าจะลองทำคือฝึกเปิดประตูผัสสะต่างๆ ของเราขึ้นมาใหม่ เราใช้สายตาและความคิดกันเยอะ ฟังเสียงดังๆ กันเยอะ แต่ประสาทสัมผัสอื่นๆ กลับไม่ค่อยได้ใช้งาน มันก็เหมือนกับกล้ามเนื้อต่างๆ ในร่างกาย เมื่อไม่ใช้งานมันก็ลีบ แต่มันก็ยังอยู่กับเรา เราสามารถฝึกมันให้ละเอียดแหลมคมขึ้นมาได้

เมื่อผัสสะทั้งหมดทำงานร่วมกัน มันปลุกความฉลาดด้านใหม่ๆ ขึ้นมา นักวิชาการด้านการศึกษาบางสำนักเรียกว่า “ความฉลาดทางธรรมชาติ” (Naturalist Intelligence) ซึ่งรวมถึงความสามารถในการสังเกต การมองเห็นรูปแบบความสัมพันธ์ต่างๆ ในโลกรอบตัว–อันนั้นก็ว่ากันไป ที่แน่ๆ คือมันเปิดศักยภาพการรับรู้ของเราในหลายมิติ

พาเราไปสู่ภาวะนิ่งตื่นรู้ใต้แสงดาวเต็มท้องฟ้าในคืนแสนวิเศษคืนนั้น

เทคนิคฝึกปฏิบัติที่น่าสนใจมากจนอยากแชร์ คือ Sense Meditation หรือ “ผัสสะภาวนา” เป็นเทคนิคง่ายๆ พัฒนาขึ้นมาโดยจอน ยัง (Jon Young) จอนเป็นลูกศิษย์ของอินเดียนแดงชื่อทอม บราวน์ (Tom Brown Junior) ผู้เป็นเสมือนโยดา จอมยุทธรอบรู้โลกธรรมชาติ เลือกถ่ายทอดวิชาความรู้แก่จอนตั้งแต่เขาอายุ 10 ขวบ เขาไม่เพียงแต่รู้ภาษาของนกชนิดต่างๆ แต่ยังสามารถใช้กระแสจิตสื่อสารกับสัตว์ได้ และนำเอาความรู้จากทอม บราวน์ มาปรับเผยแพร่สู่สังคมสมัยใหม่ เปิดโรงเรียนสอนธรรมชาติแก่เด็กๆ มาตั้งแต่ยุค 80 ปัจจุบันเปิดหลักสูตรฝึกคนเป็นโค้ชเรียนรู้ธรรมชาติด้วย

เพลงดาบฝึกผัสสะของทอม บราวน์ ที่ฝึกให้จอน มีทั้งหมด 25 ขั้นตอน เป็นแบบฝึกหัดประสาทสัมผัสทีละด้านอย่างละเอียดและลึกซึ้ง จอนปรับมาเป็นการฝึกประสาทสัมผัสทุกด้านพร้อมกันอย่างง่ายๆ เหมาะกับทั้งคนที่เริ่มเรียนรู้ และคนที่มีประสบการณ์ใกล้ชิดกับธรรมชาติมามากแล้ว คือไม่ว่าใครจะล้ำลึกแค่ไหน ก็ยังพัฒนาตัวเองได้อีกเยอะถ้าปฏิบัติฝึกฝนเป็นประจำ

วันนี้ไม่มีพื้นที่คอลัมน์มากพอที่จะบรรยายเทคนิคผัสสะภาวนานี้ได้ ขอยกยอดไปเล่าต่อในเดือนหน้า แต่ถ้าใครสนใจอยากรู้เดี๋ยวนี้ก็ลองกูเกิ้ลหาดูได้เลย

แล้วเรามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

อ้างอิง
  1. กรุงเทพธุรกิจ, กันยายน 2559
สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share