in on June 26, 2016

ประจุขั้วลบกับสุขภาพเป็นบวก

read |

Views

ใครๆ ก็รู้ว่าเราต้องการอากาศที่มีประจุไฟฟ้าขั้วลบเยอะๆ

มันคืออะตอมหรือโมเลกุลออกซิเจนที่ได้อีเลคตรอนเพิ่มมาตัว ทำให้มีค่าประจุไฟฟ้าอ่อนๆ เป็นลบ จะเจอเยอะที่สุดเมื่อเกิดพายุฟ้าคะนอง หรือในพื้นที่ใกล้น้ำไหล น้ำตก คลื่นซัดชายฝั่ง ละอองน้ำถูกตบ ออกซิเจนจากเอชทูโอกระเด็นฟ่อง

อากาศตามป่า ท่ามกลางดงไม้ เจ้าสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ที่ปรุงอาหารได้เองจากแสงแดด น้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ พลางขับออกซิเจนออกมา ก็มีออกซิเจนขั้วลบไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะป่าที่มีน้ำตกลำธารไหลผ่าน ยิ่งสดชื่นสุดๆ

พลังและความสดชื่นที่เรารู้สึก ไม่ได้เป็นเพียงปฏิกิริยาของจิตปฏิพัทธ์ใฝ่หาธรรมชาติ แต่เป็นผลทางกายภาพที่เซลล์ในร่างกายมีปฏิสัมพันธ์กับอากาศประจุไฟฟ้าขั้วลบ

3a46d5987c9fb1cd1987420004ca4e1b

เมื่อหายใจอากาศเข้าปอดสู่กระแสเลือด อากาศประจุไฟฟ้าลบจะประกบ อนุมูลอิสระประจุบวกจากการเผาผลาญร่างกาย ทำให้เป็นกลาง ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบเผาผลาญของร่างกาย (ทำให้ผอมลง!) ยังช่วยล้างพิษ เสริมระบบภูมิคุ้มกัน และเกิดปฏิกิริยาชีวเคมีบางอย่างที่ส่งผลไปกระตุ้นการหลั่งสารเซโรโตนิน

ถ้าใครติดตามอ่านคอลัมน์เมื่อสองเดือนก่อน อาจจำได้ว่าเซโรโตนินมีผลต่ออารมณ์ ช่วยลดอาการซึมเศร้า ทำให้สมองกระปรี่กระเปร่า ปราดเปรื่อง กระฉับกระเฉง

ในทางตรงกันข้าม ที่ที่อากาศมีสัดส่วนประจุไฟฟ้าลบน้อย แต่ประจุบวกมาก เราจะรู้สึกเซ็ง อ่อนล้า ปวดหัวง่าย หลายคนก็เป็นภูมิแพ้ เพราะฝุ่นและมลภาวะต่างๆ ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศที่เราหายใจ เดาได้ไม่ยากว่าเป็นสภาพอากาศในห้องปิดติดแต่แอร์ อากาศระบายไม่ดี อากาศในเมืองปูนรถยนต์บุก และยังรวมถึงอากาศแห้งแล้งต่อเนื่องยาวนาน

เครื่องฟอกอากาศจึงขายดิบขายดี มันทำงานโดยปล่อยประจุไฟฟ้าลบออกมา ประจุลบก็ไปจับโมเลกุลละอองฝุ่นและมลภาวะที่ลอยตัวฟุ้งอยู่ในอากาศ ทำให้มันทิ้งตัวตกลงพื้น เดี๋ยวนี้มีขายเป็นกล่องเล็กๆ คล้องคอเหมือนสายสร้อย ชาร์จแบตได้กับไฟบ้าน เพื่อนคนหนึ่งแพ้อากาศในที่ทำงานหนักมาก ไอจามรุนแรงขนาดหัวเหวี่ยงไปฟาดโต๊ะขอบตาเขียว จึงทดลองไปซื้อมาใส่ อาการป่วยของเธอหายภายในครึ่งชั่วโมง ทุกวันนี้เธอเดินไปเดินมาในเกราะคุ้มกันล่องหนของประจุไฟฟ้าลบที่แผ่ออกมาคลุมรอบตัว เหมือนเวทมนต์มหัศจรรย์

จะไม่แปลกใจเลยหากมีคนคิดผลิตเครื่องฟอกอากาศแขวนคอแบบมีพระเครื่องปลุกเสกหรือไม้กางเขนแปะบนหน้ากล่อง เป็น Holy Ionizer รับประกันสร้างออร่าคุ้มกัน

แต่จะมีเครื่องฟอกอากาศอะไรที่ดีไปกว่าต้นไม้ริมทางและป่าในเมือง ทำงานทั้งวันช่วยฟอกอากาศให้ทุกชีวิตในสังคม ยิ่งถ้าเสริมโครงข่ายคูคลองน้ำสะอาดไหลไขว้ทั่วเมือง ลดการใช้รถยนต์พลังงานฟอซซิล เพิ่มจักรยาน เราจะได้มากกว่าอากาศที่มีประจุไฟฟ้าลบในสัดส่วนที่สูงขึ้น แต่ยังได้อากาศที่มีทั้งสังคมจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์กับมนุษย์ (บทความเดือนเมษายน 2559) และสารน้ำมันหอมระเหยจากต้นไม้ (บทความเดือนพฤษภาคม 2559) ซึ่งงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิบะของญี่ปุ่นพบว่า ทั้งสามปัจจัยทำงานเสริมกัน ทำให้เราเป็นสุขและสุขภาพดีเมื่อออกไปสูดอากาศ “อาบป่า”

งานวิจัยที่ญี่ปุ่นไม่ได้มีอยู่เพียงเท่านั้น หลายสถาบันวิจัยร่วมกันสะสมข้อมูลสุขภาพจากผู้คนจำนวนมาก อาทิ มหาวิทยาลัยชิบะศึกษาคน 500 คน ทางเกียวโตศึกษาอีก 500 คน ฯลฯ เปรียบเทียบสุขภาพกายและจิต ก่อนและหลังการออกไปอาบป่า โดยตรวจทั้งเลือด ชีพจร สุขภาพจิต คุณภาพการนอนหลับ และงานวิจัยหนึ่งถึงขั้นลงทุนตรวจการใช้ออกซิเจนในส่วนต่างๆ ของสมองด้วยเครื่อง Time-Resolved Spectroscopy System (TRSS) เปรียบเทียบสภาพสมองยามอาบป่า 20 นาทีกับยามอยู่ในเมืองวุ่นวาย 20 นาที

งานวิจัยทุกชิ้นล้วนแต่พบว่าร่างกายคนแข็งแรงขึ้นและผ่อนคลายขึ้นเมื่อออกไปอาบป่า การอาบป่าแม้ในเวลาสั้นๆ ไม่กี่ชั่วโมง ช่วยให้ความดันลดลง โฮโมนเครียด เช่น คอร์ติซอลลดลง ระบบไหลเวียนโลหิตยืดยุ่นขึ้น สามารถรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น ระบบประสาทชุดที่สัมพันธ์กับภาวะสงบสุข (parasympathetic nervous system) ทำงานโดดเด่น

เนื่องจากโฮโมนเครียดมักจะกดระบบภูมิต้านทาน โดยเฉพาะเซลล์ต่อต้านไวรัส (antiviral natural killer cells) วิทยาลัยการแพทย์นิปปอนจึงศึกษาผลกระทบจากการอาบป่าครึ่งวันถึงหนึ่งวันต่อระบบภูมิคุ้มกัน เปรียบเทียบกับการอาบเมือง พบว่าการอาบป่าแม้เพียงสั้นๆ ส่งผลดีต่อการทำงานของระบบคุ้มกันร่างกายยาวนานถึงอาทิตย์หนึ่งเต็มๆ ซึ่งรวมไปถึงการเพิ่มปริมาณโปรตีนแอนตี้มะเร็ง

อย่าว่าแต่อาบป่าดีๆ เลย แค่ตรวจสุขภาพการออกกำลังในห้องยิมติดแอร์เปรียบเทียบกับออกกำลังแบบเดียวกันในสวนสาธารณะ ก็เห็นผลต่างกัน

ใครสนใจรายละเอียดงานวิจัยเหล่านี้ หาอ่านได้จากหนังสือ “Your Brain on Nature: the science of nature’s influence on your health, happiness, and vitality” โดย Eva Selhub และ Alan Logan ข้อมูลเยอะ แต่เขียนไม่สนุก

ญี่ปุ่นเริ่มส่งเสริมการอาบป่ามาตั้งแต่ในทศวรรษ 1980 จนวันนี้มันกลายเป็นวัฒนธรรมชินรินโยกุ มีการศึกษาตรวจวัดสังคมป่าและดงไม้ทั้งในพื้นที่อนุรักษ์และในเมืองก่อนรับรองให้เป็นพื้นที่แนะนำการอาบป่าอย่างเป็นทางการ หลายแห่งมีคลินิคอาบป่าดูแลตรวจสุขภาพประกอบด้วย ใครได้ไปลองดู ช่วยเขียนมาเล่าสู่กันฟังด้วย

ยิ่งมีการศึกษาค้นคว้าถึงความสำคัญของป่าต่อสุขภาพและพัฒนาการศักยภาพของมนุษย์ ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการมีดงไม้และต้นไม้จำนวนมากในเมือง มันเป็นการลงทุนที่แสนจะคุ้มค่า มันเป็นทรัพยากรที่สำคัญมากๆ ของเมือง

แต่ในกรุงเทพ ประเทศไทยแลนด์ เจ้าหน้าที่รัฐกลับตัดต้นไม้อย่างไม่ปราณีปราศัย เหลือเพียงยอดกุดๆ พิกลพิการ ถึงวันนี้ เราต้องไม่ยอมอีกต่อไป คนเมืองทุกจังหวัดที่อึดอัด รู้สึกพอกันทีกับการทำลายทรัพยากรชีวิตแบบนี้ สามารถเข้าร่วมกับเพจเฟสบุ๊คใหม่เอี่ยม “เครือข่ายต้นไม้ในเมือง” เป็นสายตรวจต้นไม้ ออกไปถ่ายรูปและรายงานพร้อมแฮชแทค #สายตรวจต้นไม้

บ่นเฉยๆ ผู้มีอำนาจเขาไม่ฟัง ต้องรวมพลังกดดันด้วยหลักฐาน

เริ่มก้าวนี้ ก้าวต่อๆ ไปในวันหน้าอาจได้ฝันอาบป่ากันกลางเมืองกรุง


กรุงเทพธุรกิจ, มิถุนายน 2559

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share