in on June 9, 2016

ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ลดโลกร้อน เพิ่มเศรษฐกิจ ผลิตได้ แต่…ใช้ไม่ได้

read |

Views

ความขัดแย้งในการสร้างโรงไฟฟ้ากลับมาปะทุเป็นประเด็นร้อนและรอการเกิดความรุนแรงขึ้นอีกครั้งในกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา และโรงไฟฟ้ากระบี่

ด้วยเหตุผลที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่าปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าภาคใต้มีเพียงประมาณ 3,000 เมกกะวัตต์  แต่มีปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 2,700 เมกกะวัตต์ซึ่งเสี่ยงต่อการมีไฟฟ้าไม่เพียงพอและอาจเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคใต้หากเกิดไฟตกไฟดับ

แม้ว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ PDP 2015 ฉบับปัจจุบันจะชี้ชัดว่าในช่วงหลายปีนี้มีกำลังการผลิตสำรองเหลือมากกว่า 30% ขณะที่ประเทศไทยต้องการกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองเพียง 15% เท่านั้น แต่ส่วนเกินที่ว่าก็ไม่สามารถนำไปใช้ในภาคใต้ได้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่เกินความต้องการนั้นอยู่ห่างไกลจึงไม่สามารถวางสายส่งไปได้อย่างเหมาะสมแและคุ้มทุน  พูดง่ายๆ คือ แม้จะมีโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็นอยู่แต่ก็จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นใหม่ที่ภาคใต้ แน่นอนว่าโรงไฟฟ้าที่จะผลิตไฟฟ้าได้มีราคาถูกไม่กระทบค่าไฟในกระเป๋าประชาชน ในสายตากระทรวงพลังงานก็คือโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งเป็นความขัดแย้งมาทุกยุคทุกสมัยนับแต่เกิดปัญหาผลกระทบจากแม่เมาะ และนับวันจะขยายตัวและเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2015 นี้ จะดูเหมือนมีการปรับตัวพอสมควร คือพยายามชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าออกไปเพื่อปรับลดกำลังการผลิตที่เกินอยู่มากให้กลับเข้ามาอยู่ในระดับเหมาะสมคือ 15% ในราว 20 ปีข้างหน้า และมีพลังงานหมุนเวียนบรรจุอยู่ในแผนมากขึ้น พร้อมทั้งมีแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีควบคู่ไปด้วย แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินและไฟฟ้าที่จะต้องซื้อเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบจากต่างประเทศก็ยังมีบทบาทมากอยู่ดีใน PDP 2015 ขณะที่ข้อตกลงปารีสจากการประชุมโลกร้อนครั้งที่ 21 (COP 21) ซึ่งเป็นข้อตกลงว่าด้วยการลดโลกร้อนฉบับใหม่ มุ่งเน้นให้ทั่วโลกต้องช่วยกันควบคุมอุณหภูมิให้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยน้อยกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยประเทศไทยประกาศเป้าหมายว่าจะลดก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี 2573 แนวทางหลักก็คือลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลหันมาใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ดังนั้น PDP 2015 จึงเป็นกลจักรสำคัญอันหนึ่งของเรื่องนี้ เพราะวางเป้าหมายว่าจะผลิตไฟฟ้าแล้วปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่มากไปกว่าแผน PDP 2010

ขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งระบุว่าการผลิตไฟฟ้าสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้มากกว่า โดย WWF และมูลนิธินโยบายสุขภาวะ เพิ่งจะเปิดเผยรายงานการศึกษาที่น่าสนใจมากชิ้นหนึ่ง คือวิสัยทัศน์ภาคพลังงานก้าวสู่ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเต็มรูปแบบภายในปี 2593 โดยสรุปก็คือ

ตามสมมติฐานแบบปกติของ PDP 2015 ของกระทรวงพลังงานจะผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลราว 70% ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน 28% โดยแผน PDP 2015 ระบุว่าตลอดแผนถึงปี 2579 จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 104,075,000 ตันคาร์บอน

  • ตามสมมติฐานการศึกษาการผลิตไฟฟ้าเพื่อความยั่งยืนจะผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลเพียง 15%และผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนถึง 85% ซึ่งจะทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ประมาณ 80% ภายในปี 2593 เมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซของแผน PDP 2015
  • อีกสมมติฐานหนึ่งของการศึกษาก็คือ สมมติฐานการผลิตไฟฟ้าเพื่อความยั่งยืนแบบก้าวหน้า จะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ 100% และการปล่อยก๊าซจะเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าจะลดลงถึง 30% จากการประหยัดพลังงาน

 

การศึกษานี้อ้างถึงข้อมูลตัวเลขต่างๆ ที่น่าสนใจเช่น

  • อุปกรณ์ประหยัดพลังงานมีมาก หลากหลายและราคาถูกลง จึงมีความนิยมใช้มากขึ้น
  • ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนลดลง เช่น เซลล์แสงอาทิตย์แบตเตอร์รี่
  • ข้อมูลของกระทรวงพลังงานเองระบุศักยภาพของวัตถุดิบพลังงานหมุนเวียนเพียงเฉพาะแสงอาทิตย์และชีวมวลในประเทศไทย ก็พบว่ามีมากขึ้นทุกปี ทุกประเภท และแต่ละภาคมีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2579

ส่วนในแง่ของเศรษฐกิจ การศึกษานี้ระบุว่า แผน PDP 2015 ของกระทรวงพลังงานจะพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้าจากต่างประเทศถึง 65% ขณะที่แผนการผลิตไฟฟ้าเพื่อความยั่งยืนจะใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นถึง 80-90% ซึ่งจะส่งผลให้ในอนาคตราคาไฟฟ้าจะถูกลงกว่าราคาไฟฟ้าตามแผน PDP 2015 ทำให้ GDP สูงขึ้น โดยศึกษาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ขณะที่ประเทศใหญ่ๆ ลดการพึ่งพาถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า เช่น จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ซึ่งธุรกิจถ่านหินกำลังตกต่ำและย้ายมาทำมาหากินกับประเทศที่ยังคงให้น้ำหนักกับการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่

แม้ว่าดูเหมือนตามการศึกษานี้ ศักยภาพในการผลิตจะมีความเป็นไปได้ แต่กลับมาติดปัญหาที่ไม่มีการตอบสนองการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบให้เท่าทันกับความสามารถในการผลิตได้ ตัวอย่างเฉพาะในภาคใต้ พบว่าโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีกำลังการผลิตติดตั้งคือสร้างเสร็จแล้วพร้อมผลิตถึง 987.6 เมกกะวัตต์ แต่มีการรับซื้อเข้าระบบแล้วเพียง 248.8 เมกกะวัตต์ เซ็นสัญญาแล้วรอเข้าระบบ 344.4 เมกกะวัตต์ ตอบรับซื้อแล้วรอเซ็นสัญญา 72.8 เมกกะวัตต์ และอีก 321.6 เมกกะวัตต์ ยื่นคำขอแล้วรอการตอบรับ หากไฟฟ้าเหล่านี้เข้าระบบทั้งหมดก็จะตอบโจทย์ความมั่นคงทางไฟฟ้าของภาคใต้ได้แทนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างอย่างน้อย 1 โรง

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาวิชาการของ สกว.ที่ร่วมกับ กฟผ.เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ประสานโครงการวิจัยเปิดมุมมองที่น่าสนใจว่า ยุคนี้เป็นยุค E-Commerce ที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ไม่ได้มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง แต่สามารถขายสินค้าและบริการส่งถึงมือลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น Grab Taxi ก็ไม่ได้มีรถเป็นของตัวเอง หรือธุรกิจรับจองและจัดหาโรงแรมให้ทั่วโลกต่างๆ ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของโรงแรมสักแห่ง ผู้ประสานงานวิจัยท่านนี้กล่าวว่า อยากเห็นพลังงานไฟฟ้าเป็นเป็นเช่นนั้นบ้าง ที่สามารถส่งไฟฟ้าขายให้ประชาชนได้โดยไม่ต้องเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ก็จะสามารถลดความขัดแย้งและการลงทุนภาครัฐได้มากทีเดียว

ฟังแบบนี้ผู้เขียนมานึกถึงโครงการง่ายๆ อย่างการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาบ้านหรือ Solar Roof ที่มีเสียงเรียกร้องมากจากประชาชนที่เชื่อว่ามีจำนวนมากทีเดียวที่พร้อมจะลงทุน งานนี้ต้องการการสนับสนุนแบบ Start Up ที่ฮิตกันอยู่ตอนนี้คือธนาคารเป็นแหล่งทุน โดยรัฐบาลสนับสนุน ก็จะสามารถลดทั้งภาระการลงทุนภาครัฐและความขัดแย้งในการสร้างโรงไฟฟ้าได้มากทีเดียว แต่ที่น่าสงสัยคือทำไมโครงการแบบนี้ถึงได้ถูกอั้นเอาไว้

ผู้ที่ติดตามการศึกษาเรื่องพลังงานไฟฟ้าหลายท่านบอกว่าเรื่องการกระจายการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนเป็นหน่วยผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ใช่เป็นเพียงหน่วยงานบริหารพลังงานไฟฟ้าที่จะต้องเปิดมุมมองเท่านั้นแต่เรื่องระบบสายส่งก็เป็นปัจจัยสำคัญในการผูกขาดและกำหนดทิศทางพลังงานแต่เรื่องนี้กลับไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียดต่อสาธารณะ

สังคมคงต้องช่วยกันตั้งคำถามว่า ทำไม?

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://pixabay.com/th/
  2. ภาพจาก: http://www.vcharkarn.com/vnews/154850
  3. ภาพจาก: http://www.environnet.in.th/?p=6090
  4. ภาพจาก: http://kanjana09.myreadyweb.com/article/topic-55543.html
จิตติมา บ้านสร้าง

รายงานสถานะการณ์สิ่งเเวดล้อมในบ้านเมืองกับนักข่าวสาว ผ่านมุมมองเเละเเง่คิดต่างๆ เเบบล้วงลับเจาะลึก

Email

Share