in on October 29, 2015

เมื่อทะเลมีเจ้าของ: จุดกำเนิดของพื้นที่คุ้มครองทางทะเลโดยชุมชนที่ฟิลิปปินส์

read |

Views

ปัญหาหลักของการอนุรักษ์ทรัพยากรใต้ทะเลคือความไกลหูไกลตา Out of Sight Out of Mind เมื่อไม่อยู่ในสายตาก็ไม่นึกถึงคือปะการังจะพังอย่างไรปลาจะหายไปแค่ไหนคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีโอกาสรับรู้รับทราบ

Apo2

ทะเลกว้างใหญ่จึงเหมือนไม่มีใครเป็นเจ้าของจะทำอะไรอย่างไรก็ได้จะใช้แบบล้างผลาญเหมือนทำไร่เลื่อนลอยก็คล้ายจะไม่มีใครเดือดร้อนคลื่นลมยังซัดสาดชีวิตดำเนินต่อไป

แต่เวลาที่ทะเลพังทรัพยากรเสื่อมโทรมคนที่ได้รับผลกระทบเป็นคนแรกๆไม่ใช่นักท่องเที่ยวมนุษย์ห้างหรือนักการเมืองแต่คือชาวบ้านที่อาศัยพึ่งพาทะเลโดยตรงชุมชนชาวประมงพื้นบ้านจึงเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่สัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอนาคตและจิตวิญญาณของชุมชนทั้งชุมชน ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลทะเลพังชีวิตก็พัง

เกาะอะโป (Apo) เป็นเกาะเล็กๆ ที่มีพื้นที่ไม่ถึง 500 ไร่ในฟิลิปปินส์แต่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกในวงการอนุรักษ์และการจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพราะที่นี่คือกรณีศึกษาสำคัญของการที่ชุมชนชายฝั่งลุกขึ้นมาจัดตั้งเขตอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรด้วยตัวเอง

เกาะอะโปรายล้อมไปด้วยแนวปะการัง อยู่ห่างจากฝั่ง 9 กิโลเมตรทางด้านตะวันตกของฟิลิปปินส์ ที่นี่เป็นที่ตั้งของชุมชน 145 ครัวเรือน มีประชากรบนเกาะราว 800 คนอาชีพหลักดั้งเดิมอย่างเดียวคือการทำประมงชายฝั่ง

เดิมทีคนบนเกาะมียังน้อยจึงมีปลาให้จับอย่างเหลือเฟือ และชาวบ้านก็ใช้แต่เครื่องมือประมงแบบบ้านๆ อาชีพประมงจึงสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างสบาย จนกระทั่งในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อราว 50 ปีที่แล้ว เครื่องมือประมงทำลายล้างเริ่มแพร่ระบาดเข้ามา เริ่มจากการระเบิดปลาจากดินระเบิดที่หลงเหลือจากสงคราม การวางอวนล้อมในแนวปะการัง (ใช้หินทุบปะการังเพื่อไล่ปลา) การใช้ไซยาไนด์เพื่อจับปลาส่งพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ การใช้อวนไนลอนตาถี่ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เริ่มแพร่หลายเมื่อ    40 ปีก่อน   

Apo3

อุปกรณ์และเทคนิคใหม่ๆ ทำให้จับปลาได้มากขึ้นก็จริง แต่ก็ทำให้ลูกปลาและปลาในวัยอ่อนถูกจับอย่างไม่เลือก ที่ซ้ำร้ายที่สุดคือเป็นการทำลายถิ่นอาศัยของปลาอีกด้วยโดยเฉพาะแนวปะการัง ภายในเวลาไม่กี่ปีกุ้งหอยปูปลาที่มีอยู่อย่างชุกชมก็เริ่มร่อยหรอ ชาวประมงที่เคยหากินอยู่รอบๆเกาะไม่เกิน  500 เมตร เริ่มต้องออกเดินทางไกลจากฝั่งมากขึ้นๆ หลังๆ ต้องออกเรือไกลถึง 10 กิโลเมตร

สิ่งที่เกิดขึ้นคือวงจรอุบาทว์เพราะเมื่อปลายิ่งหายาก ชาวประมงต้องเดินทางไปไกลขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น คนหาปลาจำนวนหนึ่งก็ยิ่งใช้เครื่องมือทำลายล้างมากขึ้น เมื่อใช้เครื่องมือเหล่านี้มากขึ้น ถิ่นอาศัย แหล่งอนุบาลปลาวัยอ่อนก็ยิ่งถูกทำลายมากขึ้นตามไปด้วย สุดท้ายประมาณกันว่าเหลือปลาอยู่ไม่ถึงหนึ่งในสิบของปริมาณปลาที่เคยจับได้ แนวปะการังจำนวนมากกลายสภาพเป็นซากปรักหักพัง และชาวประมงพื้นบ้านก็เริ่มอยู่ไม่ได้ 

การเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นในปี 1974 เมื่อ ดร.เองเจล อัลคาลา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัย Silliman ทดลองจัดตั้งเขตอนุรักษ์ทางทะเล (Marine sanctuary) แห่งแรกของภูมิภาคขึ้นที่เกาะ Sumilon ซึ่งไม่มีคนอาศัยอยู่และอยู่ห่างจากเกาะอะโปประมาณ 50 กิโลเมตร ดร. อัลคาลา ต้องการแสดงให้เห็นว่าพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งที่เสื่อมโทรมอย่างแพร่หลาย ภายในเวลา 3-4 ปีที่มีการห้ามจับปลาอย่างเด็ดขาดประชากรปลารอบๆ เกาะ Sumilon ก็เริ่มกลับมาชุกชุมอีกครั้ง

ดร.อัลคาลาและคณะลงพื้นที่เกาะอะโปในปี 1979 เพื่ออธิบายแนวคิดดังกล่าวกับชาวบ้านซึ่งในเวลานั้นรับรู้ด้วยตนเองแล้วว่าทรัพยากรประมงไม่ได้สมบูรณ์เหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว หลังจากพูดคุยแลกเปลี่ยน ก็ได้มีการจัดพาชาวบ้านจำนวนหนึ่งไปดูสภาพเกาะ Sumilon เพื่อให้เห็นกับตาตัวเองว่าการมีเขตอนุรักษ์จะสามารถช่วยกอบกู้วิถีชีวิตประมงพื้นบ้านได้อย่างไร

แต่กว่าชาวบ้านจะเห็นด้วยก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะการจัดตั้งเขตอนุรักษ์ไม่ได้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการทำประมงดั้งเดิม การพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและชาวประมงดำเนินอยู่ราวสามปี จนกระทั่งชาวประมงจำนวน 14 ครอบครัวตัดสินใจจัดตั้งเขตอนุรักษ์ห้ามจับปลาหรือเรียกว่า Apo Island Marine Reserve ขึ้นในปี 1982 โดยได้รับการเห็นชอบและสนับสนุนจากหัวหน้าองค์กรปกครองท้องถิ่นในขณะนั้น 

ชาวบ้านเลือกพื้นที่ชายฝั่งด้านหนึ่งของเกาะที่ยังมีแนวปะการังสภาพดีแต่มีปลาค่อนข้างน้อย โดยมีความยาว 450 เมตรและยาวออกไปในทะเลจากฝั่ง 500 เมตร ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ไม่ถึง 10% ของพื้นที่จับปลารอบเกาะ  ชาวบ้านมีการจัดเวรยามเฝ้าพื้นที่โดยสลับสับเปลี่ยนจากสมาชิกในกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 14 ครอบครัว  ความที่เขตอนุรักษ์มีขนาดเล็กจึงใช้คนเพียงแค่คนเดียวคอยตรวจตราไม่ให้มีคนเข้ามาจับปลาภายในเขตอนุรักษ์

Apo1

เมื่อมีการห้ามจับปลาอย่างจริงจังภายในเวลาไม่นานชาวบ้านก็เริ่มสังเกตเห็นว่า ภายในเขตอนุรักษ์มีปลามากกว่าบริเวณอื่นๆ และทะเลบริเวณใกล้ๆกันก็เริ่มมีปลาชุกชุมตามไปด้วย จำนวนปลาที่เริ่มล้น (spillover) ออกมาจากเขตอนุรักษ์ ทำให้พื้นที่โดยรอบเริ่มจับปลาได้มากขึ้น ชาวเกาะอะโปส่วนใหญ่จึงหันมาให้การสนับสนุนเขตอนุรักษ์ดังกล่าว และในปี 1985 ก็เสนอเรื่องให้รัฐบาลท้องถิ่นออกกฎหมายรับรองการเป็นพื้นที่คุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม

ด้วยการสนับสนุนทางวิชาการจากหน่วยงานภายนอก ชาวประมงบนเกาะอะโปได้จัดตั้งคณะกรรมจัดการทางทะเล (Marine Management Committee) และกำหนดกฎเกณฑ์ในการใช้พื้นที่รอบๆเกาะเพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำประมงแบบทำลายล้างเกิดขึ้นอีกนอกจากนี้ก็เพื่อป้องกันการเข้ามาลักลอบจับปลาของบุคคลภายนอกมีการจัดอาสาสมัครคอยทำหน้าที่ตรวจตราพื้นที่รอบเกาะอย่างเข้มงวด

เมื่อกฎกติกาถูกบังคับใช้อย่างแข็งขัน ความหลากหลายทางชีวภาพรอบๆเกาะอะโป   ก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ปลากลับมาชุกชุมอีกครั้ง สัตว์ทะเลหายากเช่นเต่าทะเลกลับมาอาศัยและหากินในแนวปะการัง ชาวประมงไม่จำเป็นต้องเดินทางไปจับปลาไกลๆ และปะการังที่เคยเหลือเพียงหนึ่งในสามของพื้นที่รอบเกาะก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ จนครอบคลุมพื้นที่เกือบ 60% ภายในระยะเวลาประมาณ 20 ปี ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติทำให้เกาะอะโปกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภายนอก เป็นอาชีพใหม่และรายได้เสริมให้กับชาวบ้านบนเกาะ 

คณะกรรมการจัดการทางทะเลได้กำหนดค่าธรรมเนียมในการมาเที่ยวบนเกาะอะโปเพื่อนำรายได้ดังกล่าวมาปรับปรุงสาธารณูปโภคส่วนกลางเช่นไฟฟ้าน้ำประปาระบบจัดการขยะและทุนการศึกษาและยังตัดสินใจควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อลดผล กระทบที่อาจควบคุมไม่ได้

รูปแบบการจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลโดยชุมชนที่เกาะอะโป กลายเป็นตัวอย่างการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมที่รัฐบาลกลางนำไปขยายผล จนมีพื้นที่คุ้มครอง ในลักษณะเดียวกันกว่า 700 แห่ง  ว่าไปคงจะคล้ายแนวคิด ปะการังชุมชนคือการเปิดโอกาสให้ชุมชนจัดตั้งเขตอนุรักษ์และกำหนดกติกาการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนด้วยตัวเอง   แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกแห่งที่จะประสบความสำเร็จเหมือนเช่นที่อะโปแต่ก็นับว่าเป็นแนวความคิดที่ก้าวหน้าและทำให้ฟิลิปปินส์มีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลขนาดเล็กในระดับชุมชนเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันถ้าคุณไปเยือนเกาะอะโป ทุกคนจะพูดเหมือนกันหมดว่า เขตอนุรักษ์เล็กๆ ที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลและได้รับการสนับสนุนให้จัดตั้งขึ้นเมื่อ 30 กว่าปีก่อนเป็นเสมือนดินเแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยกอบกู้หมู่บ้านของพวกเขาจากการล่มสลายชุมชนได้กลับมาเป็นชุมชนอีกครั้งเพราะธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกาะอะโปประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลกลับมาได้คือ 1) การรับฟังแนวคิดทางวิชาการจากภายนอก 2) การมีส่วนร่วมของชุมชนและความสัมพันธ์ในชุมชนที่เข้มแข็ง 3) การเปิดโอกาสและให้การสนับสนุนของตัวแทนรัฐบาลในท้องถิ่น 4) สิทธิในการกำหนดกฎเกณฑ์กติกาและการบังคับใช้กฎเกณฑ์เหล่านั้นอย่างเข้มแข็ง

จะว่าไปสิ่งที่สำคัญที่สุดคงจะเป็นเพราะทะเลรอบเกาะอะโปมีเจ้าของมีคนดูแลและได้รับการเอาใจใส่ชาวเกาะอะโปที่เคยเป็นเพียงผู้อาศัยและใช้ประโยชน์ปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้พิทักษ์เพราะได้ตระหนักด้วยตัวเองว่าทะเลพังชีวิตก็พังทะเลต้องการคนดูแลและพวกเขานั่นเองคือผู้ทำหน้าที่นี้ได้ดีที่สุด

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: http://ctknetwork.org/newsroom/six-coral-triangle-initiative-countries-meet-in-dumaguete-for-regional-exchange/
  2. ภาพจาก: http://www.ecotippingpoints.org/our-stories/indepth/philippines-apo-marine-sanctuary-coral-reef-fishery.html
เพชร มโนปวิตร

นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการเป็นนักเขียน นักแปลและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำงานในองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าหลากหลายองค์กรตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีผลงานตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆมาแล้วกว่า 200 เรื่อง ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เริ่มเป็นคอลัมนิสต์ประจำให้มูลนิธิโลกสีเขียวมาตั้งแต่ปี 2546 และเปิดพื้นที่คอลัมน์ Natural Solution เพื่อต้องการนำเสนอข่าวดี กรณีศึกษาที่น่าเอาอย่าง รวมทั้งแนวคิดสำคัญที่อาจเป็นทางออกของการอนุรักษ์ธรรมชาติและวิกฤติการณ์ต่างๆของโลกในปัจจุบัน

Email

Share