in on November 16, 2015

สินบนเหมืองทอง

read |

Views

ข่าวสินบนเหมืองทองในบ้านเราดูจะกลายเป็นเรื่องใหญ่เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (...) ตั้งอนุกรรมการไต่สวนกรณีทุจริตในการทำเหมืองแร่ทองคำบริเวณพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ โดยมีพยานเบื้องต้นคือข้อมูลที่ส่งมาจากคณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย (ASIC)

ที่ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (...) ประเทศไทย โดยระบุว่าพบว่ามีการโอนเงินจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยมายังประเทศไทย ซึ่งอาจถูกนำมาใช้เพื่อขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ หรือเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำและให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทย

บริษัทในออสเตรเลียคือบริษัทคิงส์เกตคอนโซลิเดเต็ดจำกัดส่วนบริษัทลูกในประเทศไทยคือบริษัทอัครารีซอร์สเซสจำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองทองชาตรี จังหวัดพิจิตร เหมืองทองคำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 และขณะนี้อยู่ในระหว่างการขอขยายพื้นที่สัมปทานรอบใหม่ ท่ามกลางการประท้วงของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอยู่ในขณะนี้ โดยบริษัทคิงสเกตออกมาตอบรับกับข่าวนี้ว่าไม่รู้เรื่องการไต่สวนนี้ ส่วนเงินก้อนดังกล่าวเป็นเงินที่จ่ายค่าที่ปรึกษาธุรกิจ และ ASIC ไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาใดๆกับบริษัท

จะว่าไปนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นกลยุทธซ้ำๆ ที่อุตสาหกรรมเหมืองทองต่างชาติทำกับแหล่งขุดทองทั่วโลก จนหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับการต่อต้านคอรัปชั่นได้ข้อสรุปตรงกันว่าธุรกิจที่มีเกี่ยวข้องกับการคอรัปชั่นมากที่สุดคือธุรกิจด้านการขุดเจาะพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือเหมืองแร่ต่างๆ

การติดสินบนเหมืองทองที่ฉาวโฉ่ที่สุดของโลกน่าจะเป็นเหมืองทองคุมเตอร์ (Kumtor) ที่ประเทศคีร์กีซสถาน ประเทศเกิดใหม่ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เพราะการจ่ายสินบนเหมืองทองแบบมาราธอนต่อเนื่องกันนับตั้งแต่ก่อตั้งเป็นประเทศ สามารถขย่มบัลลังก์ทำเนียบประธานาธิบดีได้เลยทีเดียวกัน ภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อปี 2005 และ 2010  ในปี 2012 ภาคประชาชนกดดันให้รัฐสภาสอบสวนการทุจริตเหมืองคุมเตอร์ โดยว่าจ้างบริษัทสัญชาติอิสราเอลเป็นผู้ตรวจสอบ

ผลการตรวจสอบพบว่าในยุคของประธานาธิบดีคนแรก นายอัสการ์ อาคาเยฟ มีการให้ใบอนุญาตทำเหมืองทองแก่บริษัทคามิโก (Cameco)  ในปี 1991 โดยในช่วงเวลานั้นบริษัทคามิโกว่าจ้างนายบอริส เบอร์ชไตน์ นักธุรกิจรัสเซียที่ถือชาติแคนาดาเป็นตัวแทนประสานงานการขอใบอนุญาตทำเหมือง และต่อมาเบอร์ชไตน์ซึ่งใกล้ชิดกับประธานาธิบดีก็ขึ้นแท่นรับตำแหน่งหัวหน้าคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ จากนั้นในปี 1992 เครื่องบินเจ๊ทส่วนตัวของเบอร์ชไตน์ก็ขนทองจากคีร์กีซสถานไปสวิตเซอร์แลนด์จำนวน 1.6 ตัน

เรื่องไม่จบเพียงแค่นั้น มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงการถือหุ้น จากข้อตกลงเริ่มต้นบริษัทคามีโก้จะถือหุ้น 33 เปอร์เซนต์ และรัฐบาลคีร์กีซสถานถือหุ้น 67 เปอร์เซนต์ แต่ภายหลังมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง โดยตั้งบริษัทเซนเทอร่าโกลด์ขึ้นมาบริหารเหมือง และปรับสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลจากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เหลือ 28.8 % ส่วนบริษัทคามีโก้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นและกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน  58.2 %  นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการโอนเงินจำนวน 4 ล้านและ 11 ล้านเหรียญสหรัฐให้บริษัทที่ตั้งอยู่บนเกาะบริติชเวอร์จิ้น ซึ่งบริษัทตรวจสอบเชื่อมโยงได้ว่าเจ้าของบริษัทดังกล่าวคืออดีตประธานาธิบดีอาคาเยฟที่พ้นจากตำแหน่งเพราะสินบนเหมืองทองนั่นเอง

ในจดหมายที่บริษัทตรวจสอบสัญชาติอิสราเอลส่งถึงรัฐสภาคีร์กีซสถาน ได้แนะนำให้ส่งเรื่องเข้าสู่ศาลระหว่างประเทศเพื่อฟ้องร้องเรียกค่าปรับบริษัทเซนเทอร่าโกลด์ มูลค่า 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ต่อมาทางการคีร์กีซสถานฟ้องร้องอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ 10 คนในกรณีการปรับโครงสร้างการถือหุ้นที่ทำให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์ นำจำนวนนี้ 5 คนหนีออกนอกประเทศไปอยู่รัสเซีย อีก 5 คนถูกดำเนินคดีแต่ตอนหลังถูกปล่อยตัวเพราะหมดอายุความ  (ลิงก์ http://thediplomat.com/2015/02/kyrgystans-controversial-gold-mine/)

การติดสินบนเหมืองทองอีกกรณีหนึ่งคือบริษัทแอฟริกันแบริคโกล์ดในประเทศแทนซาเนีย จ่ายเงินสด 4 แสนเหรียญสหรัฐให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลเพื่อเดินเรื่องซื้อขายที่ดินบริเวณรอบเหมืองทองนอร์ธมารา จากการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของหนังสือพิมพ์วอลสตรีทเจอนัลพบว่าการจ่ายเงินเริ่มต้นขึ้นเมื่อปีกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว โดยจากการรวบรวมอีเมลของบริษัทพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้รับเงินถึง 140 คน รับเงินคนละตั้งแต่ 19,000-121,000 เหรียญสหรัฐ โดยเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการได้รับเงินตอบแทน 250 เหรียญต่อวันจำนวน 45 วัน ขณะที่คนแทนซาเนียมีรายได้ต่อหัวปีละ 570 เหรียญต่อปีเท่านั้น

ขณะที่บริษัทแบริคโกล์ดซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกาบอกว่าเป็นการจ่ายที่ถูกต้องตามกฏหมายในพื้นที่ห่างไกล ระบบธนาคารมีข้อจำกัด บางครั้งไม่มีเลย การจ่ายเงินสดเป็นเพียงหนทางเดียว การจ่ายทุกยอดมีการบันทึก ตรวจสอบ และควบคุมอย่างระมัดระวังและสำนักงานกฎหมายที่เราว่าจ้างให้ตรวจสอบพบว่าเราทำถูกต้องทำกฎหมายของแทนซาเนีย สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร

กรณีตัวอย่างสุดท้าย เมื่อปลายเดือนมิถุนายนนี้บริษัทโกลด์ฟิลด์ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกาออกแถลงการณ์ว่าฝ่ายกำกับดูแลการคอรัปชันในต่างประเทศ (FCPA) ของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แจ้งว่าบริษัทได้พิสูจน์ตัวเองเรื่องการจ่ายเงิน 210 ล้านดอลล่าร์ให้แก่กองทุนสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจสำหรับคนผิวสี เพื่อให้ได้ใบอนุญาติทำเหมือง Deep South ในประเทศแอฟริกาใต้เรียบร้อยแล้ว และบอกว่าแผนก FCPA บอกว่าจะไม่ดำเนินคดีใดๆกับทางบริษัทแต่โฆษกของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ปฏิเสธไม่ให้ความเห็นต่อแถลงการณ์นี้

ทั้งนี้เมื่อธันวาคม 2013 บริษัทโกล์ดฟิลด์เปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ว่าค่าใช้จ่ายก้อนนี้อยู่ในรูปของสัดส่วนการถือหุ้น 9 % ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าสอบสวนเรื่องนี้ เพราะเข้าข่ายการจ่ายสินบนเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท และที่ปรึกษาทั่วไปของบริษัทลาออกในเดือนต่อมาhttp://blogs.wsj.com/riskandcompliance/2015/06/23/sec-closes-gold-fields-bribery-probe/

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่ารูปแบบการคอรัปชั่นที่บริษัทเหมืองทองข้ามชาตินิยมใช้คือการจ่ายเงินทั้งในรูปแบบเงินสดและการโอนหุ้นให้กับผู้มีอำนาจเพื่อให้ได้รับใบ  อนุญาติทำเหมืองและเอื้อประโยชน์ต่างๆและแทบไม่มีสินบนเหมืองทองกรณีใดเลยที่สามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับสินบนได้

จึงเป็นทั้งอุทาหรณ์และควรจับตามองว่าสินบนเหมืองทองในบ้านเราที่ปปช.กำลังจับจ้องอยู่จะเคลื่อนไหวไปในทางใด

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://www.pexels.com/photo/bullion-gold-gold-bars-golden-47047/
  2. ภาพจาก: http://www.freakwhey.com/m=webboard&a=show&topic_id=1573&cate_id=5
  3. ภาพจาก: http://www2.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000151428
ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share