in on June 25, 2015

ว่าด้วยข่าวดีและทางออกของการอนุรักษ์ธรรมชาติ

read |

Views

“ข่าวดี”

สำหรับคนทำงานอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ่งหนึ่งที่มักถูกถามเวลาได้มีโอกาสนั่งคุยกันลึกๆ นานๆ ก็คือ พวกเรารับมือกับ “ข่าวร้าย” ที่ได้ยินกันอยู่ทุกวี่ทุกวันอย่างไร พวกเราไม่รู้สึกท้อบ้างหรือ กับข่าวการทำลายธรรมชาติ โครงการพัฒนาที่ไม่เหมาะสมของภาครัฐ สัตว์ป่าก็ยังคงถูกไล่ล่า ปลาก็ถูกจับจนแทบหมดทะเล ไม่นับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากสภาวะโลกร้อนที่พาดหัวข่าวแทบจะไม่เว้นแต่ล่ะวัน

Copy+of+107

 

การได้ฟังข่าวเหล่านี้มากๆ สำหรับคนที่ไม่มีใจก็คงไม่ได้รู้สึกอะไร แต่สำหรับคนที่เลือกทำงานด้านนี้ก็คงไม่แปลกที่อาจทำให้ทดท้อและถอดใจได้ไม่ยาก

คำตอบส่วนตัวที่ผมใช้อยู่ประจำก็คือ คนทำงานอนุรักษ์ต้องเป็นคนมองโลกในแง่ดี คิดบวก (สมัยนี้อาจโดนเหน็บว่าโลกสวย) ต้องอดทน มีจุดยืนหนักแน่น และเชื่อว่าความพยายามของเราสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆได้ไม่มากก็น้อย ไม่ช้าก็เร็ว

เพราะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของส่วนรวม การโน้มน้าวให้คนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงน่าจะมีคุณค่าอยู่บ้างในตัวของมันเอง แม้ผลของงานอาจยังไม่ประจักษ์เป็นรูปธรรมในวันนี้

การทำงานอนุรักษ์ของคนตัวเล็กๆ ตั้งแต่ระดับปัจเจก ระดับกลุ่มองค์กร ไปจนถึงระดับนโยบาย ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคประชาชน สถาบันการศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชนจึงล้วนน่าชื่นชม

การมี “ข่าวร้าย” ออกมาเรื่อยๆ สำหรับผมแล้วไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะอย่างน้อยก็ช่วยกระตุ้นเตือนคนส่วนใหญ่ให้ได้ตระหนักว่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนั้นวิกฤติขนาดไหน แต่ “ข่าวร้าย” อย่างเดียวคงไม่พอ เราน่าจะช่วยกันรายงาน “ข่าวดี” และช่วยทำให้เรื่องราวดีๆเป็นข่าวด้วย

แนนซี่ โนวตัน และเจเรมี แจ็คสัน สองสามีภรรยานักชีววิทยาทางทะเลชื่อดังของโลกเห็นไม่ต่างกัน เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาทั้งคู่จึงริเริ่มจัดประชุม “Beyond the Obituaries: Success Stories in Marine Conservation” หรือ “ไปให้ไกลกว่าข่าวร้าย (มรณกรรม) : เรื่องราวความสำเร็จในการอนุรักษ์ทะเล” ขึ้น
Nancy-Knowlton
maxresdefault0

แนนซี่บอกว่านักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ก็เหมือนกับหมอที่พยายามรักษาอาการป่วยไข้ของระบบนิเวศ คงไม่มีหมอคนไหนอยากเขียนแต่รายงานการจากไปของคนไข้ที่ตัวเองรักษา และเธอเชื่อว่ามีข่าวดีมากมายในวงการวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่สมควรได้รับการเผยแพร่และสรุปบทเรียน

ภายในเวลาหนึ่งวันของการประชุมที่ผมมีโอกาสเข้าร่วมเมื่อหลายปีก่อน มีการรายงานเรื่องราวความสำเร็จของการอนุรักษ์ที่น่าชื่นชมจากทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่การเปลี่ยนชาวประมงกลุ่มหนึ่งที่เคยวางเบ็ดราวติดเต่าหัวฆ้อนตายปีละกว่า500ตัวมาเป็นผู้นำพิทักษ์เต่าทะเลด้วยการเปลี่ยนเครื่องมือประมง ​ ความสำเร็จของพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเล็กๆแห่งหนึ่งในเม็กซิโกที่จัดตั้งขึ้นและดูแลอย่างเข้มแข็งโดยชาวบ้าน จนกลายเป็นแหล่งรวมฝูงของกระเบนปีศาจที่สำคัญในระดับโลก

การกลับมาของปลากระพงยักษ์และฉลามขาวหลังจากมีมาตรการห้ามวางอวนล้อมในพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งของรัฐแคลิฟอร์เนีย ไปจนถึงการลุกขึ้นมารณรงค์ปฏิเสธเมนูหูฉลามในงานแต่งงานอย่างสร้างสรรค์ของนักศึกษาเชื้อสายจีนคนหนึ่งในเมืองแวนคูเวอร์ที่ได้ผลเกินคาด

สิ่งที่เหมือนกันของข่าวดีเหล่านี้คือการรู้จักเอาข้อมูลจากงานวิจัยมาใช้ในการวางแผนจัดการทางสังคม จนทำให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติ กระบวนทัศน์และพฤติกรรมของผู้ใช้ทรัพยากร

แนนซี่และเจเรมี สะท้อนให้ฟังหลังการจัดประชุมว่าสามสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากเรื่องราวความสำเร็จหลายๆเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติคือ

1) งานอนุรักษ์วันนี้ยังไม่สายเกินไป เรายังพืชพรรณ สัตว์ป่าและระบบนิเวศให้ปกปักรักษา และธรรมชาติก็ได้พิสูจน์ตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าว่ามีศักยภาพในการฟื้นฟูกลับมาได้ถ้ามนุษย์ให้โอกาส 2) เรามีองค์ความรู้ มีตัวอย่างรูปแบบการทำงานที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้วิกฤติหลายอย่างในปัจจุบันได้ และ 3) แนวทางการแก้ปัญหาดีๆ จะถูกนำมาปฏิบัติและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อมีคนมากพอในสังคมนั้นๆเห็นร่วมกันว่ามันเป็นปัญหาและต้องการการเปลี่ยนแปลง

ในทุกๆ วันมีคนจำนวนไม่น้อยที่มุ่งมั่นทำงานอนุรักษ์ในสิ่งที่ตัวเองรักและเชื่อมั่นอยู่เงียบๆ ณ มุมใดมุมหนึ่งของโลก เรื่องราวดีๆ ความตั้งใจดีๆ เหล่านี้อาจยังไม่เป็นที่รับรู้กันในวงกว้าง ผมจึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้บอกเล่าข่าวดีๆ กรณีศึกษาที่น่าเอาอย่าง รวมทั้งแนวคิดสำคัญที่อาจเป็นทางออกของหลายปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่

บางที “ข่าวดี” เหล่านี้อาจพอช่วยบันดาลใจให้คนอื่นๆ ได้ก้าวออกมาเป็นแนวร่วม และช่วยกันบอกต่อว่า “อย่าเพิ่งสิ้นหวัง” โลกนี้ยังมีความหวัง

เพราะถึงที่สุดแล้วการอนุรักษ์จะประสบผลหรือไม่ก็เป็นเรื่องของคนในสังคมที่ต้องร่วมกันตัดสินใจ

เพราะถึงที่สุดแล้วการอนุรักษ์ก็เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: Marine Conservation Institute
  2. ภาพจาก: KidsEcoClub
  3. ภาพจาก: SmithsonianMag
เพชร มโนปวิตร

นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการเป็นนักเขียน นักแปลและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำงานในองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าหลากหลายองค์กรตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีผลงานตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆมาแล้วกว่า 200 เรื่อง ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เริ่มเป็นคอลัมนิสต์ประจำให้มูลนิธิโลกสีเขียวมาตั้งแต่ปี 2546 และเปิดพื้นที่คอลัมน์ Natural Solution เพื่อต้องการนำเสนอข่าวดี กรณีศึกษาที่น่าเอาอย่าง รวมทั้งแนวคิดสำคัญที่อาจเป็นทางออกของการอนุรักษ์ธรรมชาติและวิกฤติการณ์ต่างๆของโลกในปัจจุบัน

Email

Share