in on February 25, 2015

ช.ช้างวิ่งหนี

read |

Views

ผู้เขียนบังเอิญได้มีโอกาสช่วยแปลข่าวเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. 2558 ที่ประกาศบังคับใช้ไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา คนอยู่เมืองไทยอาจจะได้ผ่านหูผ่านตาไปบ้าง เลยถือโอกาสชวนกันมาทำความเข้าใจเบื้องหน้าเบื้องหลังอีกหน่อยดีกว่า

ใครที่เป็นผู้ค้าขายงาช้างบ้าน ซึ่งมาจากช้างไทยในบ้านเราเอง ต้องมาขอใบอนุญาตก่อนดำเนินการ หากฝ่าฝืนมีโทษหนัก จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วน “งาช้างแอฟริกา” ถือว่าเป็นของผิดกฎหมาย ห้ามมีไว้ในครอบครองและค้าขายเด็ดขาด

ทำไมงาช้างแอฟริกากลายเป็นเป้าหมายหลักของการกำจัดออกจากระบบการค้างาช้างน่ะหรือ ก็บ้านเราถือเป็น ประเทศปลายทาง หรือศูนย์กลางการค้างาช้างจากแอฟริกาใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศจีน ข่าวการจับกุมงาช้างที่ลักลอบขนผ่านเข้ามาทางสนามบินสุวรรณภูมินั้นมีมาให้เห็นเป็นระยะๆ จนอดเป็นกังวลไม่ได้ว่าเจ้าวิสเปอร์จากเรื่อง Whisper The Elephant Tale จะเป็นหนึ่งในนั้นด้วยหรือเปล่า เพราะคงจะยิ่งเศร้าหนักขึ้นหากว่าต้องซ้ำรอยการจบชีวิตของแม่ที่ตายด้วยน้ำมือของนักล่า

พระราชบัญญัติงาช้างนี้มีกฎหมายรองรวม 17 ฉบับออกมา เพื่อทำให้การควบคุมการค้างาช้างบ้าน และการปราบปรามการลักลอกค้างาช้างแอฟริกามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และควบคุมได้ทั้งระบบ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยไม่ถูกคว่ำบาตรทางการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าตามสนธิสัญญาไซเตส ซึ่งไทยได้ลงนามเข้าร่วมไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526

CMYK_New-01
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ หากใครมีงาช้างบ้านหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างบ้านไว้ในครอบครอง ที่อาจเป็นมรดกตกทอดมาจากเจ้าคุณปู่หรือจะเป็นของขวัญที่ได้รับในโอกาสใดๆ ก็ตาม ต้องแจ้งการครอบครองนี้ ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 1-16 และสาขา หากท่านอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด กำหนดการแจ้งไว้ภายใน 90 วัน (22 ม.ค. – 21 เม.ย. 58)

สมัยที่เป็นนิสิต อาชีพเสริมคือช่วยมารดาที่ร้านดอกไม้ ผู้เขียนเคยเข้าไปส่งดอกไม้ในบ้านของมหาเศรษฐีท่านหนึ่ง เห็นงาช้างคู่ตั้งตระหง่านอยู่ในบ้านแล้วขนลุกซู่ แม้ว่าในตอนนั้น จะยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของการฆ่าและตัดงาช้างที่แอฟริกามากนัก ผู้เขียนจำได้แต่ว่า รีบส่งแล้วรีบออกจากบ้านทันที เพราะกลัววิญญาณช้างเจ้าของงาจะตามมา ถ้างาคู่ใหญ่ขนาดนั้น เจ้าของงาจะใหญ่เท่าไหนก็ไม่กล้าคิด

การแสดงฐานะร่ำรวยด้วยการตั้งงาคู่ประดับบ้านนั้น ดูจะเป็นส่วนประกอบหนึ่งของผู้มีฐานะรุ่นก่อนๆ ที่ตามมาด้วยคำพูดลับหลังของคนอื่นๆ ทำนองว่า ไม่รู้ว่าชาติก่อนทำบุญอะไร ชาตินี้ถึงได้ร่ำรวยแบบนี้

คนไทยส่วนมากเชื่อในเรื่องของการกลับชาติมาเกิด ทำบุญเมื่อไหร่ก็หวังว่าผลบุญจะส่งให้ได้กินดีอยู่ดีในชีวิตหน้า แต่ตอนนี้อยากจะขอชวนให้ละความหมายทางธรรม (ตามที่ฟังเขามา) แล้วหันมาพิจารณาทางโลก (ธรรมชาติ) กันซักนิดนึงก่อน

ในการให้คำจำกัดความของคำว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development) มักจะมีคำว่า “ไม่กระทบต่อคนรุ่นหลัง” หรือ “ไม่เบียดเบียนทรัพยากรของคนรุ่นหลัง” ตามท้ายเสมอๆ

แล้วถ้าหากว่าระบุต่อท้ายไปอีกว่า “ที่จริงแล้ว คนรุ่นหลังก็คือคนรุ่นเราๆ ที่กลับชาติมาเกิด” ล่ะ บางที อาจจะทำให้การพัฒนาทุกอย่างมีพื้นฐานอยู่บนความยั่งยืนอย่างไม่ยากเย็น เพราะเวลาที่กลับชาติมาเกิดแล้วทุกคนจะได้มีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ น้ำในแม่น้ำใสสะอาด และโดยรวมๆ แล้วคือมีสมดุลระหว่างสิ่งที่คนต้องการและสิ่งที่ธรรมชาติให้ไม่ไปหยิบของดีๆ จากชาติหน้ามาใช้ในชาตินี้จนหมด

ได้แต่หวังว่าพระราชบัญญัติงาช้างฉบับนี้ จะสามารถช่วยควบคุมอุปสงค์และอุปทานได้ทั้งระบบ พ่อค้าไม่ต้องมีออเดอร์ไปยังผู้ล่าประเทศต้นทาง เพราะผู้ซื้อรู้แล้วว่าผิดกฎหมาย แม้ว่าที่ผ่านมาอาจจะไม่รู้แก่ใจว่าผิดศีลที่สั่งฆ่าช้าง

คราวนี้ เวลาหาของมาแต่งบ้าน ก็ขอให้คิดให้ถี่ถ้วนถึงที่มาที่ไปเสียก่อน ถือว่าทำบุญเผื่อชาติหน้าด้วยการไม่ไปเลือกหรือทำอะไรก็ตามที่ต้องไปเบียดเบียนชีวิตอื่น สาธุ…

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: http://pet.kapook.com
  2. ภาพจาก: WWF
  3. ภาพจาก: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share