in on October 15, 2015

เรื่องเป็นชิ้นเป็นอันของขยะ

read |

Views

เชื่อว่าคนจำนวนมากที่เป็นเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ คงปฎิเสธไม่ได้ว่า ซิงเกิ้ลเพลง “อ๊ะ อ๊ะ อย่าทิ้งขยะ ตาวิเศษเห็นนะ” เป็นหนึ่งในบรรดาของสิ่งที่ทำให้เรามีความคุ้นเคยร่วมกัน

ผู้เขียนเองเติบโตมากับท่อนฮุคของเพลงนี้และลงท้ายชีวิตการ     ทำงานในเมืองไทยกับตาวิเศษเมื่อสมาคมสร้างสรรค์ไทย (ชื่อเต็มของตาวิเศษที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากเท่าชื่อเล่น) รับดูแลโครงการโรงเรียนเรือรักเจ้าพระยา ที่ใช้กระบวนการสอนสิ่งแวดล้อมศึกษาแบบตะวันตกเข้ามา สร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและสังคมของแม่น้ำด้วยกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ซึ่งคติและแนวการทำงานของตาวิเศษและโรงเรียนเรือฯ มีความคล้ายคลึงกัน

15

การทำงานของตาวิเศษเริ่มต้นจากการที่ให้เด็กๆ มีบทบาทในการเป็นผู้สื่อสารไปยังพ่อแม่ด้วยคอนเซปต์ง่ายๆ “ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง” เพื่อรณรงค์การรักษาความสะอาดของบ้านเมือง ซึ่งในขณะนั้นกรุงเทพฯ ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 5 ของเมืองที่สกปรกที่สุดในโลก การที่ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยกัน “ทิ้งขยะลงถัง” นั้น ช่วยทำให้กรุงเทพฯ พ้นสภาพเมืองสกปรกที่สุดมาได้  ไม่แม้แต่จะอยู่ในบัญชี 25 เมืองที่สกปรกที่สุดในโลกของปี 2015

บางคนอาจจะคิดว่าเรื่องง่ายๆ แบบนี้ จำป็นด้วยหรือที่ต้องทำงานกันเป็นโครงการใหญ่โต คุ้มหรือที่ต้องออกอากาศเป็นโฆษณาทางทีวีจนร้องเพลงกันได้ทั่วประเทศ  แต่การเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมเริ่มแรกโดยสอนให้คนทิ้งขยะลงถังนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิดและถ้าหากข้ามขั้นตอนนี้ไปการแก้ไขปัญหาในเรื่องการจัดการขยะที่จะตามมาก็จะไม่เกิดผล ข้อสังเกตดังกล่าวนี้มาชัดเจนยิ่งขึ้นก็หลังจากที่มาอยู่ที่มาเลเซียนี่เอง

เกือบสิบปีแล้วที่ผู้เขียนย้ายมาปักหลักอยู่ที่นี่ ทำตัวกลมกลืนประหนึ่งคนท้องถิ่นด้วยหน้าตาไม่ผิดไปจากคนที่นี่นัก แต่ในหนึ่งสัปดาห์จะมีเหตุการณ์เหล่านี้อย่างน้อย 2-3 ครั้ง ที่ทำให้ผู้เขียนออกอาการผิดเพี้ยนไปจากคนแถวๆ นี้

ชายหนุ่มวัยทำงานหยิบบุหรี่มวนสุดท้ายออกมาจุดสูบ ขณะที่พ่นควันแรกมืออีกข้างก็ขยำซองบุหรี่เขวี้ยงทิ้งลงที่หน้าร้านอาหารนั่งทานอยู่นั่นเอง ไม่หล่อตั้งแต่ต้น (เพราะสูบบุหรี่) แล้วยังมาตายตอนจบอีก

ขณะติดไฟแดง (1 ใน 3 ไฟจราจรที่ต้องผ่านในแต่ละวัน) รถคันหน้าหรือคันที่จอดข้างๆ ลดกระจกลงแล้วโยนขยะออกจากรถลงไปจุมปุ๊กอยู่ที่เกาะกลางถนนบ้าง บนถนนตรงข้างๆ รถนั่นเลยก็มี 90% ของคนที่โยนมาแต่งตัวดีขับรถคันใหญ่ๆ ที่ไม่ใช่รถบรรทุก ผู้เขียนเผลอบีบแตรทุกครั้งที่เจอ

ที่ทำใจได้ยากมากที่สุด ก็คือเหตุการณ์ที่เจอทุกครั้งเวลาได้ไปเที่ยวตามน้ำตก ปิคนิคตามลำธาร คือ คุณแม่ที่อุ้มลูกน้อยมาเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูปแล้วล้างทำความสะอาดกันในแหล่งน้ำตรงนั้นเเล้วเปลี่ยนใส่ชิ้นใหม่สะอาดเสร็จสรรพ คุณแม่ก็พับผ้าอ้อมชิ้นเก่าแล้วหมกไว้ข้างๆ ลำธารตรงนั้นโอ้วเธอได้สมญาลีหมกโช้วไปทันที

ทั้งหมดที่เล่ามานี้ ตั้งใจจะเปรียบเทียบให้เห็นว่า เมื่อไม่มีการรณรงค์ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพื้นฐานกันมาก่อน เหตุการณ์ที่เล่ามาทั้งหมด จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นให้เห็นประจำ

ที่ต้องลุกขึ้นมาเป็นห่วงออกอากาศแบบนี้ ก็เพราะว่าเมื่อวันที่ 1 กันยายน ปี 2015 ที่ผ่านมานี้เองที่พระราชบัญญัติการทำความสะอาดสาธารณะและการจัดการขยะมูลฝอย (Solid Waste and Public Cleansing Act 2007, Act 672) จะถูกนำมาใช้กับรัฐทั้ง 8 ของฝั่งมาเลเซียตะวันตกที่มีการรับรอง พรบ. ดังกล่าว (ยกเว้นรัฐสลังงอร์ที่ผู้เขียนอยู่)

img_8070

ใจความง่ายๆ สั้นๆ คล้ายๆ เวลาคนรักมาบอกเลิกคือ ให้ทุกครัวเรือน แยกขยะมูลฝอยก่อนมีการเก็บหรือนำไปทิ้ง โดยได้ลงรายละเอียดไว้ว่า “ให้แยกพลาสติก กระดาษ แก้ว โลหะ เศษอาหาร ขยะจากฟาร์ม และขยะจากสวน” หากใครไม่ปฎิบัตตามนี้นอกจากจะถูกปรับไม่เกินหนึ่งพันริงกิต (ราวๆ หนึ่งหมื่นบาท) แล้วรถขยะจะงดไม่มาเก็บขยะจากบ้านนั้นๆ ด้วย

เป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วระบุว่า จะต้องมีการให้ความรู้แก่ประชาชนที่มีอยู่มากกว่า 2 ล้านครัวเรือนให้เข้าใจถึงการแยกขยะ ณ ขณะนี้ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นได้รายงานว่าเจ้าของเรื่องได้มีการให้ข้อมูลเข้าถึงประชาชนไปแล้ว 58,000 ครัวเรือน นั่นเท่ากับ 2.8% ของประชาชนที่ควรจะเข้าใจเรื่องนี้… เท่านั้นเองเรอะ!!

เกือบสิบปีที่ผ่านมาเวลาไปสถานที่ราชการ มหาวิทยาลัยทั้งเอกชนและของรัฐ รวมทั้งห้างสรรพสินค้าจะพบถังขยะพร้อมสัญญลักษณ์ว่าต้องทิ้งอะไรลงถังไหน ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะต้องเดินเข้าไปดูในถังเหล่านั้น ร้อยทั้งร้อยขยะอยู่ผิดที่ผิดถังเพราะการจัดการขยะมูลฝอยของที่นี่เน้นไปที่ระบบและอุปกรณ์อันทันสมัย ประชาชนยังมีความเข้าใจไม่ทันกับความทันสมัยของระบบ

จึงไม่แปลกใจที่ยังเห็นคนที่อยู่แถวๆ ที่ทำงานซึ่งอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ งงๆ เก้ๆ กังๆ กับการทิ้งขยะ พอลองเข้าไปถามดูก็ได้คำตอบว่าก็ยังทิ้งเหมือนเดิมไม่รู้จะแยกยังไงเพราะมันต้องแยกหลายอย่างเหลือเกินไม่มีที่เก็บรอจนถุงเต็มครั้นจะทิ้งทุกครั้งก็เปลืองถุงที่ใส่

จึงจั่วหัวเรื่องไว้อย่างนั้น เพราะเมื่อการบริหารจัดการระบบจัดการขยะมาทีละชิ้นทีละอันแบบไม่มีระบบอย่างนี้ เราก็จะยังเห็นขยะเกลื่อนกลาดในวิถีเดิมๆ ของมันต่อไป

อ้างอิง
  1. ภาพ: กองขยะ
  2. ภาพ: ตาวิเศษ
  3. ภาพ: ถังเเยกขยะ
ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share